เล่ม 1 คำอธิบายและข้อคิดเห็น หนังสือแปล A Game of Thrones จากผู้แปล

กระทู้จากหมวด "เล่ม 1-5 (ห้ามสปอยเล่ม 6)" โพสต์โดย สุนัขป่าโลกันตร์, 15 เมษายน 2013.

  1. สวัสดีครับ

    ผมมีโอกาสได้แปลหนังสือ A Game of Thrones ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในนวนิยาย ชุด A Song of Ice and Fire

    ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านตรวจทานก็ตอนพิมพ์เสร็จเป็นเล่มออกมาแล้ว โดยเบื้องต้นผมคิดว่า สนพ. อาจจะอยากเคารพต้นฉบับโดยการแปลตามตัวอักษร ในขณะที่ผมอยากให้อ่านแล้วได้อารมณ์เดียวกับต้นฉบับมากกว่า โดยเฉพาะในบทสนทนาผมคิดว่าโดนกระทบแรงทีเดียว (ผมออกจะใช้ภาษาดิบๆ ในบทสนทนาหลายบท แต่ถูกปรับให้เรียบๆ กลางๆ ลงไปเยอะ) มี idiom หลายจุดที่ทาง สนพ. แปลออกมาตามตัวอักษรซึ่งไม่ตรงกับความหมาย

    สำหรับทุกท่านที่อ่านภาษาอังกฤษมาบ้าง อาจจะพอคุ้นว่าคำภาษาอังกฤษ 2 คำขึ้นไปเมื่อนำมารวมกันแล้วความหมายมักเปลี่ยนไปจากคำเดิม ยังไม่นับ idiom และคำพังเพยที่ผู้แต่ง จอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน คิดค้นขึ้นมาเองอีกเป็นจำนวนมาก

    ผมขอยกตัวอย่าง (เป็น idiom ทั่วไปไม่ได้เอาจากในหนังสือนะครับ)
    pulling my leg - ไม่ได้แปลว่าดึงขา แต่แปลว่า พูดโกหก
    keep my head above water - ไม่ได้แปลว่ายื่นหัวพ้นน้ำ แต่แปลว่า ควบคุมสถานการณ์
    เป็นต้น

    ในที่นี้ผมจึงอยากนำจุดแตกต่างดังกล่าว รวมถึงนำข้อมูลที่ผมค้นคว้าและกระบวนการคิดของผมระหว่างการแปลมาเล่าสู่กันฟังครับ จริงอยู่ว่าผมเองก็มีโอกาสผิดพลาดได้ แต่ผมอยากให้ผู้อ่านได้มีโอกาสรับรู้มุมมองอีกมุมหนึ่ง(มุมมองของผม) ด้วยหวังว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้น เข้าถึงอรรถรสยิ่งขึ้น รวมถึงได้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจด้วยนะครับ

    ผมจะทยอยทำเท่าที่มีแรงและมีเวลาทำครับ

    มาเริ่มกันเลยดีกว่า
    gingwara, Northenon, oakhyco และอีก 3 คน ถูกใจข้อความนี้
  2. ข้อคิดเห็นโดยรวม


    1. ลูกนอกสมรส (Bastard)

    ในเรื่องนี้ ผมมีการใช้ศัพท์ ทั้ง ลูกนอกกฎหมาย ลูกนอกสมรส และลูกไม่มีพ่อ/ไม่มีแม่สำหรับ Bastard
    แต่ถูกปรับเป็น ลูกนอกสมรสหมด อันนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เพราะคำนี้มีหลายความหมาย

    อ้างอิงความหมายของ Bastard จาก พจนานุกรม Merriam Webster

    1: an illegitimate child
    2: something that is spurious, irregular, inferior, or of questionable origin
    3: an offensive or disagreeable person —used as a generalized term of abuse

    1 คือลูกที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย
    2 คือคนไม่สมประกอบ คนชาติกำเนิดไม่แน่ชัด และ
    3 คือการด่าครับ ไม่ได้เจาะจงความหมาย

    ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นกันแล้วนะครับว่าเรื่องนี้มีการด่ากันถึงพริกถึงขิงมาก
    นมุมมองของผมคำว่า Bastard จึงควรมีการปรับเปลี่ยนไปตามตัวละครและสถานการณ์เช่นกัน

    ขอยกตัวอย่าง เซอร์ แอลลิสเซอร์ ธอร์น ผู้อ่านทุกท่านน่าจะรู้นิสัยเขาดี
    ผมไม่คิดว่าคนแบบนี้จะพูดสุภาพเชียวว่า “ลูกนอกสมรส” กับจอน สโนว์
    จึงเลือกให้ เซอร์ แอลลิสเซอร์ ธอร์น เรียกจอน สโนว์ว่า “ไอ้ลูกไม่มีแม่
    ซึ่งเหมาะสมกับนิสัยของเขามากกว่า รวมถึงในหลายๆ บริบทที่จอนถึงกับโกรธด้วย

    ..................................................................

    2. ขี่ม้า (Ride )

    คำนี้ผมพยายามแปลตามบริบท จึงมีทั้ง ขี่ม้า เดินทาง ดั้นด้น รุดหน้า ฯลฯ และในเรื่องนี้ผมมองไปถึงการเคลื่อนพลด้วย
    แต่หลายๆ จุดถูกปรับเป็น “ขี่ม้า”

    อ้างอิงจากพจนานุกรม Merriam-Webster
    1: to sit and travel on the back of an animal that one directs
    2: to travel as if on a conveyance <rode on a wave of popularity>
    3-a: to lie moored or anchored <a ship rides at anchor>
    3-b: sail
    5: to travel over a surface <the car rides well>
    6: to continue without interference <let it ride>

    ..................................................................

    3. นายข้า (My lord)

    ผมใช้ นายท่าน ครับ นายข้า ผมว่า...ตลก

    ..................................................................

    4. ไม่มีการแบ่งสำนวน ระหว่างสามัญชนกับชนชั้นขุนนางให้ชัดเจนเหมือนต้นฉบับ

    ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้แต่งได้เลือกใช้คำที่ต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับคำพูดของสามัญชนกับชนชั้นขุนนาง
    ซึ่งคำหนึ่งที่เห็นได้ชัดมาก คือ m’lord กับ my lord ซึ่งทางทีม บก. จับรวบยอดเป็น นายข้า เหมือนกันทั้ง 2 คำ
    ในมุมมองของผม ความแตกต่างตรงนี้ผมถือว่ามีนัยยะ ควรคงความต่างตามต้นฉบับเอาไว้

    ผมเลือกใช้ นา’ท่าน สำหรับ m’lord และ นายท่าน สำหรับ my lord อีกทั้งนั่งตรวจทานเทียบต้นฉบับทุกตัวให้แน่ใจว่าไม่มีการใช้คำสลับกัน

    ซึ่งอันที่จริง ถ้าจะปรับเปลี่ยน ผมคิดว่า นายข้า ที่ทาง สนพ คิดขึ้นมาก็เหมาะกับ m'lord ดีครับ
    my lord ก็เป็น นายท่าน ไปตามเดิม แต่ไม่น่าจับรวบยอดเป็นคำเดียวกัน

    ..................................................................

    5. ต้นไม้ยืนยาม (Sentinel tree)

    คำว่า Sentinel ถูกแปลเป็นคำขยายว่า ยืนยาม เช่น “ต้นไม้ใหญ่นั้นยืนยามอยู่บนยอดสันเขา” ในเล่ม 1.1 หน้า 8

    ในมุมมองของผม Sentinel เป็นลักษณะของพันธุ์ไม้ครับ น่าจะตรงกับคำว่า ไม้ยืนต้น
    และในกรณีของต้นสนที่ผมยกตัวอย่างนี้ ยังใช้เป็นชื่อพันธุ์ได้อีกด้วย

    Species: Pinus Sylvestris Fastigiata
    Common Name(s): Sentinel Pine
    http://www.barcham.co.uk/trees/pinus-sylvestris-fastigiata-sentinel-pine

    จากตรงนี้เองผมจึงมีมุมมองว่า Sentinel Tree ในความหมายของคนเขียน น่าจะเป็นพันธุ์ไม้มากกว่า
    จึงเลือกใช้คำว่า ต้นผู้พิทักษ์ ไม่ก็ต้นเทพารักษ์ หรือถ้าไม่อยากแปลชื่อ ก็น่าจะทับศัพท์ ว่า ต้นเซนทิเนล
    แต่ถ้าอยากแปลเป็นคำขยายจริง ก็น่าจะใช้คำว่า ไม้ยืนต้น มากกว่า

    ..................................................................

    6. ลำดับชื่อ

    ต้นฉบับ – Robert Baratheon, first of his name,
    ฉบับแปล – โรเบิร์ตแห่งตระกูลบาราเธียน บุคคลแรกแห่งนามนี้
    ผมแปล – โรเบิร์ตที่หนึ่ง แห่งตระกูลบะราธเธียน

    ผมมองว่า การใช้ชื่อตามด้วยลำดับที่ เป็นคำปกติเราใช้กันกับกษัตริย์ทางตะวันตกอยู่แล้ว เช่น พระเจ้าเฮนรี่ที่สาม
    อีกทั้งการเขียนชื่อสั้นๆ ในเรื่องนี้ ก็เขียนคล้ายของกษัตริย์ตะวันตก เช่น Robert I, Walder IV

    ..................................................................

    7. ผู้พิทักษ์อาณาจักร (Protector of the Realm)

    ในภาษาอังกฤษ จะมีตำแหน่ง Lord Protector อยู่ ซึ่งหมายถึง มหาอุปราช หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    ผมจึงมองว่า ในบริบทของการแนะนำตัวพระราชานั้น Protector มีความหมายว่าพระราชาผู้นั้นทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินด้วย จึงเลือกใช้คำว่า ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

    อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    2 (usually Protector) historical a regent in charge of a kingdom during the minority, absence, or incapacity of the sovereign: the King’s uncle became Protector.

    ข้อ 6-7 รวมกัน จาก เล่ม 1.1 หน้า 15

    ต้นฉบับ – In the name of Robert of the House Baratheon, the First of his Name, King of the Andals and the Rhoynar and the First Men, Lord of the Seven Kingdoms and Protector of the Realm

    ฉบับแปล – ในนามของโรเบิร์ตแห่งตระกูลบาราเธียน บุคคลแรกแห่งนามนี้ ราชาแห่งชาวแอนดัล รอยนาร์ และปฐมบุรุษ ลอร์ดแห่งเจ็ดราชอาณาจักรและผู้พิทักษ์อาณาจักร

    ผมแปล – ในนามของโรเบิร์ตที่หนึ่งแห่งตระกูลบะราธเธียน ราชาแห่งชาวแอนดัล รอยนาร์ และปฐมบุรุษ ลอร์ดแห่งเจ็ดราชอาณาจักรและผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
    Northenon และ oakhyco ถูกใจข้อความนี้
  3. เล่ม 1.1

    เลขหน้าที่ระบุต่อไปนี้ อ้างอิงหนังสือ เกมล่าบัลลังก์ ฉบับภาษาไทย เล่ม 1.1


    บทนำ - วิลล์

    หน้าแรกๆ
    ผ้าคลุม(หนัง)เซเบิลของเซอร์เวย์มาร์

    เซเบิล อันที่จริงผมมีใส่ foot note ไว้ครับว่าคือตัวอะไร
    “สัตว์สี่เท้าตัวเล็กในตระกูลแมว หน้าตาคล้ายนากน้ำจืด ”
    อ่านเพิ่มเติม - http://en.wikipedia.org/wiki/Sable

    ..................................................................

    หน้า 3
    นุ่มราวกับผืนบาป

    ในเรื่องนี้มีการเปรียบเทียบอะไรหลายอย่างกับความบาปครับ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า sin ตรงๆ
    ซึ่งโดยความหมายนั้น ผมเข้าใจว่า บาปเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นมาก
    ยืดหยุ่นยังไง? เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม 99% ก็แทบจะบาปทั้งนั้นครับ

    ..................................................................

    หน้า 12
    นิ้วของเซอร์เวย์มาร์ปัดไปข้างลำตัว ถุงมือหนังตุ่นของเขาหลุดออก มันชุ่มโชกไปด้วยสีแดง

    ต้นฉบับ - Ser Waymar’s fingers brushed his side. His moleskin glove came away soaked with red.
    ผมแปล - เซอร์เวย์มาร์ถูนิ้วไปข้างลำตัว ถุงมือหนังตัวตุ่นของเขาชุ่มโชกไปด้วยสีแดง

    ถุงมือของเซอร์เวย์มาร์ไม่ได้หลุดครับ ไม่กี่ย่อหน้าถัดมา มือคู่นั้นยังไปบีบคอวิลล์โดย “สวมถุงมือ และเหนียวเหนอะหนะไปด้วยเลือด” อยู่เลย ถ้าคิดว่าเขาหยิบกลับมาสวม... อย่าลืมครับว่าเขากลายเป็นผีดิบไปแล้ว

    ทีนี้ถ้าดูความหมายจากพจนานุกรม อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    come away - be left with a specified feeling, impression, or result after doing something: she came away feeling upset

    คร่าวๆ แปลว่า “ผล หรืออารมณ์ อันเกิดจากการกระทำ” ซึ่งในบริบทนี้ การกระทำก็คือการถูนิ้วไปข้างลำตัว และผลก็คือถุงมือชุ่มโชกสีแดง


    บทที่ 1 แบรน

    หน้า 22
    ท่านลอร์ดชั่งน้ำหนักบรรดาลูกชายของตน

    ต้นฉบับ - The lord weighed his sons long and carefully
    ผมแปล – ท่านลอร์ดมองชั่งใจลูกๆ

    weighed ในที่นี้ไม่ใช่การชั่งน้ำหนัก แต่หมายถึงการประเมิน พิจารณา ตัดสินใจ หรือชั่งใจ

    อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    weigh (verb)
    2) assess the nature or importance of, especially with a view to a decision or action: the consequences of the move would need to be very carefully weighed

    ..................................................................

    หน้า 24
    แบรนคิดว่ามันแปลกนักที่ลูกหมาตัวนี้เพียงตัวเดียวใกล้จะลืมตาแล้ว

    ต้นฉบับ - Bran thought it curious that this pup alone would have opened his eyes while the others were still blind.
    ผมแปล – แบรนคิดว่ามันน่าสงสัยที่ลูกสุนัขตัวนี้เพียงตัวเดียวจะลืมตาแล้ว

    ผมคิดว่าภาษาอังกฤษค่อนข้างชัดเจน have opened his eyes

    ..................................................................

    หน้า 24
    “หมาเผือก” ธีออน เกรย์จอย พูดด้วยอารมณ์ขันอันฝืดฝืน

    ต้นฉบับ - “An albino,” Theon Greyjoy said with wry amusement.
    ผมแปล – “หมาเผือก” ธีออน เกรย์จอยพูดเหน็บอย่างขบขัน

    ภาษาอังกฤษไม่ได้มีความหมายถึง มุขฝืด เลยครับ Wry คือการทำตลกที่มักแฝงการประชดถากถาง หรือเหน็บแนมเข้าไปด้วย อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    wry = 1. Dryly humorous, often with a touch of irony.

    ส่วน dry แปลได้ว่า เป็นมุขตลกที่มีการล้อเลียน ถากถาง เหน็บแนม แถมเป็นมุขที่ไหวพริบดีอีกต่างหาก อ้างอิง Oxford เช่นกัน
    dry = Humorous or sarcastic in a shrewd, impersonal way


    บทที่ 2 - แคทลิน

    หน้า 25
    เหล่าทวยเทพแห่งวินเทอร์เฟลได้เก็บรักษาป่าประเภทที่แตกต่างจากที่อื่นไว้

    ต้นฉบับ - The gods of Winterfell kept a different sort of wood.
    ผมแปล - เหล่าทวยเทพแห่งวินเทอร์เฟลได้เก็บรักษาป่าคนละประเภทกันเอาไว้

    ย่อหน้าก่อนนี้ แคทลินบรรยายถึงป่าศักดิ์สิทธิ์ในริเวอร์รัน ประโยคนี้จึงเพียงเปรียบเทียบ ว่า “เป็นคนละประเภทกับริเวอร์รัน”เท่านั้น

    พอมีคำว่า “ที่อื่น” จะกลายเป็นต่างกับที่อื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงปราสาทในแคว้นเหนือหลายแห่งมีป่าศักดิ์สิทธิ์มืดๆ เก่าๆ แบบนี้เหมือนกัน


    บทที่ 4 เอ็ดดาร์ด

    หน้า 48
    เหล่าคนเลี้ยงม้าพากันเดินเข้ามารับม้า

    ต้นฉบับ - grooms were coming forward for their mounts
    ผมแปลเหล่าข้าราชบริพารรุดหน้ามารับม้า

    groom แปลได้ทั้งคนเลี้ยงม้า และข้ารับใช้ในราชสำนัก ในมุมมองของผมนั้น คนที่วิ่งมารับม้าอาจเป็นคนใช้ตำแหน่งอื่นก็ได้ ผมจึงเลือก ข้าราชบริพาร

    อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    groom
    1) a person employed to take care of horses.
    2) a bridegroom.
    3) British any of various officials of the royal household.

    ..................................................................

    หน้า 50
    โรเบิร์ต บาราเธียน เป็นชายผู้มีความอยากอาหารเหลือเฟือ ชายผู้รู้วิธีตักตวงความสุข

    ต้นฉบับ - Robert Baratheon had always been a man of huge appetites, a man who knew how to take his pleasures.
    ผมแปล – โรเบิร์ต บะราธเธียนเป็นชายเจ้าสำราญผู้รู้วิธีตักตวงความสุข

    ผม มองว่า คำว่า appetite ไม่ได้มีความหมายแค่อาหารเท่านั้น แต่สำหรับโรเบิร์ตแล้วควรรวมเหล้าและเรื่องทางเพศด้วย ซึ่งสิ่งที่โรเบิร์ตพูดจาเฮฮาก่อนหน้าประโยคนี้ ก็มีครบทั้ง 3 อย่าง คืออาหาร เหล้า และผู้หญิง ผมจึงเลือก ชายเจ้าสำราญ ที่อธิบายความอยากเหล่านั้นทั้งหมดได้ในคำเดียว

    อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    appetite
    2) a desire to satisfy a bodily craving, as for sexual pleasure

    ..................................................................

    หน้า 55
    ต้นฉบับ – Ned declared
    ฉบับแปล – เน็ดประกาศ
    ผมแปล – เน็ดเผย

    declare ไม่ได้แปลว่า ประกาศ ได้เท่านั้น ในบริบทนี้ผมมองว่าคือการเผยความในใจ เพราะอย่างไรก็อยู่กันแค่ 2 คน

    อ้างอิง The Free Dictionary
    declare
    3. To reveal or make manifest; show.

    ..................................................................

    หน้า 57
    ... และพวกขุนนางกับนางในของข้าก็ไม่ได้ดีกว่ากันเลย

    ต้นฉบับ - ... and my lords and ladies are no better.
    ผมแปล - ... แถมพวกขุนนางก็ไม่ได้ดีกว่ากันเลย

    lords กับ ladies ผมมองว่าคือชายและหญิงชนชั้นขุนนาง เหมือนที่เราเรียก ลอร์ดสตาร์ค เลดี้สตาร์ค
    ผมเขียนแค่ ขุนนาง เพราะคิดว่าเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีทั้งชายและหญิง
    ตอนแรกลองเขียน “ขุนนางชายหญิง” แล้ว คิดว่าดูตลก เลยเอาออก

    ถ้าใช้ นางใน จะกลายเป็นนางกำนัล นางข้าหลวง หรือหญิงรับใช้ในราชสำนักไปแทน


    บทที่ 5 - จอน

    หน้า 62
    อ่อนกว่าทั้งจอนและรอบบ์ แต่ที่ทำให้จอนกังวลเป็นอย่างยิ่งคือจอฟฟรีย์ตัวสูงกว่าพวกเขาทั้งคู่

    ต้นฉบับ - younger than Jon or Robb, but taller than either, to Jon’s vast dismay.
    ผมแปล – … แต่ที่ทำให้จอนท้อแท้เป็นอย่างยิ่งคือจอฟฟรีตัวสูงกว่าพวกเขาทั้งคู่

    dismay แปลได้ทั้ง 2 อย่าง แต่ในมุมมองผม ตรงนี้น่าจะท้อแท้มากกว่า

    dismay จาก Merriam-Webster
    1: to cause to lose courage or resolution (as because of alarm or fear)

    ..................................................................

    หน้า 62
    พระราชาควรจะมีท่าทางอย่างนี้

    ต้นฉบับ - This is what a king should look like
    ผมแปล – พระราชาควรจะดูเหมือนอย่างนี้

    ตรงนี้ จอน มองแต่รูปลักษณ์และการแต่งกายของเจมี ไม่ได้มองอิริยาบถ

    ..................................................................

    หน้า 65
    (เบนจินถาม) “Don’t you usually eat at table with your brothers?”
    (จอนตอบ) “Most times,” Jon answered in a flat voice.

    ฉบับแปล – “กินเกือบทุกครั้ง”
    ผมแปล – “นั่งร่วมโต๊ะกันเกือบทุกครั้ง”

    ผมคิดว่าประเด็นของคำถามไม่ใช่การกิน แต่ประเด็นคือ กินร่วมโต๊ะกับพี่น้องคนอื่นๆ รึเปล่า

    ..................................................................

    หน้า 69
    จอนตกใจจนอ้าปากค้าง แล้วชมดูอย่างยำเกรงเมื่อทีเรียน แลนนิสเตอร์ม้วนตัว...

    ต้นฉบับ - Jon gasped, then watched with awe as Tyrion Lannister spun around in a tight ball, landed lightly on his hands, then vaulted backward onto his legs.

    ผมแปล – จอนตกใจจนอ้าปากค้าง แล้วชมดูอย่างเลื่อมใสเมื่อทีเรียน แลนนิสเตอร์ม้วนตัว...

    คล้ายๆ กรณีหน้า 62 คือแปลได้ทั้ง 2 อย่าง แต่ผมคิดว่า เห็นคนตีลังกา ไม่น่าจะต้องยำเกรง ถ้าเป็นผมเอง ผมจะทึ่ง ชื่นชม มากกว่า

    อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    awe
    a feeling of reverential respect mixed with fear or wonder

    ..................................................................

    หน้า 69
    ข้าฝึกมันอยู่

    ต้นฉบับ – I’ve been training him.
    ผมแปล – ข้าฝึกมันมาตลอด

    I’ve been training him หมายถึง ฝึกมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันก็ยังฝึกอยู่
    ซึ่งในบริบทนี้ จอนกำลังให้ความมั่นใจกับทีเรียนว่าเขาฝึกมันมาเยอะแล้ว ซึ่งก็เหมาะกับคำว่า ฝึกมันมาตลอด

    ..................................................................

    หน้า 70
    “ท่านเป็นลูกที่แท้จริงของตระกูลแลนนิสเตอร์ของแม่ท่าน”

    ต้นฉบับ - “You are your mother’s trueborn son of Lannister.”
    ผมแปล – “เจ้าเป็นลูกที่แท้จริงของแม่เจ้า และของตระกูลแลนนิสเตอร์”

    พอรวบประโยคแบบนั้นแล้ว ผมว่าคนอ่านจะตีความผิดเป็น “ตระกูลแลนนิสเตอร์ของแม่”

    ในต้นฉบับความหมายชัดเจนว่าเป็นลูกของแม่ และเป็นลูกตระกูลแลนนิสเตอร์แท้ๆ
    ผมจึงเอา และ คั่นกลางเพื่อให้ชัดเจนเหมือนกัน


    บทที่ 6 - แคทลิน

    หน้า 74
    ทำไมเขามองไม่เห็นเสียทีนะ

    ต้นฉบับ - Why couldn’t he see?
    ผมแปล - ทำไมเขาไม่ตาสว่างเสียที?

    see ไม่ได้แปลว่า เห็น ได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึง เข้าใจ แจ่มแจ้ง รู้ตัว มีสติ ก็ได้

    อ้างอิง พจนานุกรม Merriam-Webster

    a : to have experience of : undergo <see army service>
    b : to come to know : discover
    c: to be aware of : recognize <sees only our faults>

    ..................................................................

    หน้า 78
    ความจริงเพียงอย่างเดียวที่ข้ารู้อยู่ที่นี่ แดนใต้เป็นรังของพวกงูพิษ .....

    ต้นฉบับ - The only truths I know are here. The south is a nest of adders …..
    ผมแปลนี่คือความจริงเพียงอย่างเดียวที่ข้ารู้ แดนใต้เป็นรังของพวกงูพิษ .....

    อันนี้เป็นการเล่นคำจากรูปเดิมนิดหน่อย คือ Here is what I know

    นี่คือสิ่งที่ข้ารู้ ...” หรือถ้าอยากสลับที่ตามต้นฉบับ “สิ่งที่ข้ารู้คือนี่ ...” คืออะไรก็ว่ากันไป

    ตรงนี้เป็นจุดที่ผมอ่านเจอแล้วตกใจพอสมควร (ตรง ถุงมือหลุด ก็เช่นกัน)
    เพราะมันเป็นประโยคง่ายๆ ที่ผมคาดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะผิดได้ ...


    บทที่ 7 - อาร์ยา

    หน้า 89
    ป่านนี้แม่ชีมอร์เดนคงจะส่งข่าวถึงท่านแม่ของเธอเรียบร้อยแล้วเป็นแน่ หากเธอกลับห้องก็จะต้องมีผู้พบตัว

    ต้นฉบับ - By now Septa Mordane would certainly have sent word to her lady mother. If she went to her room, they would find her.
    ผมแปล – ป่านนี้แม่ชีมอร์เดนคงจะส่งข่าวไปถึงมารดาเรียบร้อยแล้วเป็นแน่ หากเธอกลับห้องก็จะต้องถูกพบตัว

    คำว่า They ในที่นี้ ผมเข้าใจว่า เจาะจง ท่านแม่ และแม่ชี ถ้าใช้ ผู้พบตัว จะกลายเป็นใครก็ได้ไป

    ..................................................................

    หน้า 93
    เซอร์รอดริคดึงจอนผมด้วยความกังวล

    ต้นฉบับ - Ser Rodrik tugged at his whiskers in dismay.

    เหมือนข้างบนครับ ผมไม่คิดว่า กังวล จะเข้ากับบริบทนี้ น่าจะท้อแท้มากกว่า


    บทที่ 8 - แบรน

    หน้า 95
    เขากำลังจะได้เดินทางไปบนถนนราชมรรคาบนม้าของเขาเอง ไม่ใช่ม้าตัวเล็ก แต่เป็นม้าจริงๆ

    ต้นฉบับ - He was going to ride the kingsroad on a horse of his own, not a pony but a real horse.
    ผมแปล - เขากำลังจะได้เดินทางไปบนถนนคิงส์โรดบนม้าของเขาเอง ไม่ใช่ม้าพันธุ์เล็กแต่เป็นม้าจริงๆ

    ผมคิดว่า pony น่าจะใช้ “พันธุ์เล็ก” มากกว่า “ตัวเล็ก” เพราะมันสื่อได้ชัดเจนว่าม้าของแบรน อย่างไรก็คงไม่โตกว่านั้นแล้ว พอบอกว่าม้าตัวเล็ก ผมเกิดความรู้สึกว่ามันก็น่าจะโตได้อีก และไม่ใช่ม้าปลอมอะไรที่แบรนจะต้องเปลี่ยนไปขี่ “ม้าจริง”

    ในบทเดียวกัน ที่แบรนไปเยี่ยมม้าตัวเองในคอก ผมใช้คำว่า ม้าน้อย ซึ่งในมุมมองผมเป็นคำที่ให้ความรู้สึกผูกพันธุ์มากกว่า “ม้าตัวเล็ก” เพราะแบรนเองก็ถึงกับจะร้องไห้

    ..................................................................

    หน้า 98
    “หมอบลง อย่างนั้นแหละ ทีนี้ก็ รออยู่นี่นะ --”

    ต้นฉบับ - “Lie down. That’s right. Now stay -”
    ผมแปล – “หมอบ อย่างนั้นแหละ ทีนี้ คอย –”

    ถ้าใครเคยฝึกสุนัขน่าจะรู้ครับ ว่า “คอย” ก็คือคำสั่ง “Stay” นั่นแหละ (รวมถึงคำสั่ง หมอบ ด้วย)

    ..................................................................

    หน้า 97
    ... เชื่อมจากชั้นที่สี่ของหอระฆังไปยังชั้นที่สองของรังกา

    ต้นฉบับ – … the fourth floor of the bell tower across to the second floor of the rookery
    ผมแปล - .... เชื่อมจากชั้นสี่ของหอระฆังไปยังชั้นสองของกรงเลี้ยงอีกา

    ในเรื่องนี้จะใช้คำว่า Rookery กับบริเวณที่ใช้เลี้ยงกากับนกเรเวนในปราสาทและป้อมต่างๆ ผมคิดว่าน่าจะใช้ กรงเลี้ยงนก หรือห้องเลี้ยงนก มากกว่า

    ถ้าใช้ รังกา จะไปซ้ำกับรังจริงๆ เช่น ประโยคนี้ซึ่งอยู่ถัดออกไปอีกเพียงหน้าเดียว
    ต้นฉบับ - There were crows’ nests atop the broken tower
    ฉบับแปล – มีรังกาอยู่บนยอดหอคอยปรักหักพัง

    (ความหมายตามพจนานุกรมของ Rookery คือ แหล่งสืบพันธุ์ของนกทะเล แมวน้ำ กับเต่า)


    บทที่ 9 - ทีเรียน

    หน้า 108
    เด็กนั่นใช้เวลาตั้งนานกว่าจะตาย

    ต้นฉบับ - The boy is a long time dying.
    ผมแปล – ไอ้เด็กนั่นไม่ยอมตายเสียที

    คลิเกนกำลังพูดถึงแบรน ซึ่งแบรนยังไม่ตายนะครับ... คลิเกนบ่นเพราะอยากจะรีบๆ ออกเดินทาง

    ..................................................................

    หน้า 111
    ปลาเล็กๆ พวกนั้นสองตัว กับเบียร์ดำรสดีนั่นเหยือกหนึ่งเพื่อให้กลืนลงคอ

    ต้นฉบับ - and two of those little fish, and a mug of that good dark beer to wash them down
    ผมแปล – ปลาเล็กๆ พวกนั้นสองตัว กับเบียร์ดำรสดีนั่นเหยือกหนึ่งเพื่อล้างปาก

    คำว่า wash down ในแง่การกิน มี 2 ความหมาย กลืนอาหารโดยอาศัยน้ำช่วย กับ การดื่มเครื่องดื่มตามหลังอาหาร

    จากที่พูดคุยกับเพื่อนชาวต่างประเทศ ได้ความว่าคำนี้เป็นคำธรรมดาในชีวิตประจำวันซึ่งใช้ในความหมายหลังมากกว่า ซึ่งก็ตรงกับการ “ดื่มล้างปาก” ที่เป็นคำทั่วๆ ไปเช่นเดียวกัน

    อ้างอิง The Free Dictionaries
    wash down (Phrasal verb)
    2. To follow the ingestion of (food, for example) with the ingestion of a liquid: washed the cake down with coffee.

    ..................................................................

    หน้า 114
    รอยยิ้มของพี่ชายแข็งค้างเหมือนนมบูด

    ต้นฉบับ - His brother’s smile curdled like sour milk.
    ผมแปล – รอยยิ้มของพี่ชายหายไปจากใบหน้า

    curdle like sour/bad milk เป็นสำนวนที่ผู้แต่ง มาร์ติน คิดขึ้นมา และมีการนำมาใช้หลายต่อหลายครั้ง

    curdle ในสำนวนนี้ ผมมองว่า ไม่ได้แปลว่าแข็งค้าง แต่กำลังบอกว่า จากดีๆ กลับกลายเป็นแย่ โดยเปรียบเทียบว่าสิ่งดีๆ นั้นได้ “เน่าเสียไป เหมือนนมที่มีรสเปรี้ยว” (บางจุดก็เทียบกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่นม บางจุดก็ curdle เฉยๆ)

    His brother’s smile curdled like sour milk จึงตีความได้ว่า “รอยยิ้มเน่าบูดไป เหมือนนมที่รสเปรี้ยว”
    รอยยิ้มที่เสียไปแล้วกลายเป็นอะไร? ก็ต้องกลายเป็นหน้าบึ้งไงครับ

    ผมได้ข้อสรุปมาอย่างนี้โดยพิจารณาจากอีก 2 จุดในเล่ม 1 ที่มีการนำสำนวนเดียวกันไปใช้

    บทที่ 26 (พูดถึงแซม) - His face curdled like old milk as he looked at the great wooden stairs. “I’ll die if I have to climb that.”

    บทที่ 30 (พูด ถึงโรเบิร์ต) - The mirth curdled on Robert’s face. “The woman tried to forbid me to fight in the melee. She’s sulking in the castle now, damn her. Your sister would never have shamed me like that.”

    ในกรณีของแซม ผมว่าเขาต้องหน้าเบี้ยวหน้าบูดแน่นอน

    ในกรณีของโรเบิร์ตยิ่งแล้วใหญ่เพราะเขาถึงกับโกรธ ย่อมไม่ใช่ ความร่าเริงค้างแข็ง อย่างแน่นอน
    mirth แปลว่า ร่าเริง เฮฮา จึงตีความได้ว่าความร่าเริงบนใบหน้าของโรเบิร์ตเน่าบูดไปแล้ว อีกนัยหนึ่งก็คือ กลายเป็นหน้าบึ้งแล้วนั่นเอง

    Curdle ตามพจนานุกรมเอง แปลว่า เน่าเสีย หรือผิดพลาด ก็ได้
    อ้างอิงจาก Merriam-Webster
    2) to go bad or wrong : spoil


    บทที่ 10 - จอน

    หน้า 119
    ต้นฉบับ - Jon forced himself to smile back
    ฉบับแปล – จอนบังคับตัวเองให้ยิ้มตอบ
    ผมแปล – จอนฝืนตัวเองให้ยิ้มตอบ

    ไม่มีความเห็น


    บทที่ 11 - เดเนอริส

    หน้า 123
    ต้นฉบับ - The exile had offered her brother his sword
    ฉบับแปล – ชายผู้ถูกเนรเทสมอบดาบของตนให้กับพี่ชายของเธอ
    ผมแปล – ชายผู้ถูกเนรเทศสาบานความจงรักภักดีต่อพี่ชายของเธอ

    เวลาอัศวินเสนอดาบให้ลอร์ด ก็คือการสาบานตน “จะใช้ดาบของตนเพื่อรับใช้อีกฝ่าย”
    ผมคิดว่าถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการสาบานดาบของตะวันตกอาจจะไม่งง
    แต่เนื่องจากมันไม่ใช่วัฒธรรมบ้านเราที่เราคุ้นเคย ผมจึงคิดว่าน่าจะตีความมากกว่า

    ..................................................................

    หน้า 130

    ต้นฉบับ - An expectant hush rippled out from the center of the camp
    ฉบับแปล - เสียงกระซิบอย่างคาดหมายดังเป็นระลอกจากใจกลาง
    ผมแปล - เสียงชู่ปากดังแผ่ขยายออกไปจากใจกลาง

    Hush โดยปกติฝรั่งจะใช้งานเหมือนคำว่า ชู่ว ของเรา - Hush! The baby is sleeping.
    ใน บริบทนี้ คาลโดรโก สั่งให้หยุดงานเลี้ยงเพื่อจะไปเอาของขวัญ ซึ่งทั้งดนตรี การร้องเพลง การต่อสู้ ล้วนแต่หยุดลงหมดทุกอย่าง ในเวลาอย่างนี้ผมว่าสมเหตุสมผลกว่าที่ทุกคนจะพยายามเงียบครับ โดยการทำเสียง จุ๊ หรือ ชู่ว์ ไปทั่วงาน

    อ้างอิงพจนานุกรม Oxford
    hush (verb)
    - make (someone) be quiet or stop talking:he placed a finger before pursed lips to hush her
    hush (noun)
    a silence:a hush descended over the crowd

    คำว่า ripple เอง ในที่นี้ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นระลอกครับ แต่กำลังเปรียบเทียบการกระจายตัวของเสียง ว่ากระจายออกจากศูนย์กลางเหมือนคลื่นลูกหนึ่ง อ้างอิง Merriam-Webster

    : to flow with a light rise and fall of sound or inflection <laughter rippled over the audience>
    : to have or produce a ripple effect : spread <the news rippled outwards>

    ..................................................................

    หน้า 133
    เธอเริ่มแกะผมเปียของเธอเองช้าๆ

    เดนีแกะผมของโดรโกครับ ไม่ใช่ของตัวเอง

    ..................................................................

    หน้า 134
    เขาหยุดในตอนนั้น ดึงร่างเธอขึ้นมาบนตัก

    ต้นฉบับ - He stopped then, and drew her down onto his lap
    ผมแปล - แล้วเขาก็หยุด จับเธอนั่งตัก

    then แปลตรงตัวซะ...
    ส่วนเรื่องนั่งตัก เดนียืนอยู่ครับในขณะที่โดรโกนั่ง หากจะแปลให้ตรงตัว โดรโกก็ต้องดึงเดนี ลง นั่งบนตัก
    พอดีผมมองว่าเดนีตัวเล็กกว่าโดรโกมาก เหมือนผู้ใหญ่จับเด็กมานั่งตัก

    ..................................................................

    หน้า 135
    เธอกระซิบขณะสอดนิ้วเขาเข้าไปในกาย

    ต้นฉบับ - “Yes,” she whispered as she put his finger inside her.
    ผมแปล - “ได้” เธอกระซิบขณะสอดใส่นิ้วมือเข้าไปในกาย

    ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้ แต่พอบอกสอดเฉยๆ แล้วความโรแมนติกหายหมดเลย...


    บทที่ 12 - เอ็ดดาร์ด


    หน้า136
    “จะอย่างไรก็ตามที” เน็ดพูด “เข้ามาข้างในเถอะ ฝ่าบาท”

    ต้นฉบับ - “By all means,” Ned said. “Come inside, Your Grace.”
    ผมแปล - “จะเอาอย่างไรก็เอาเถอะ” เน็ดพูด “เข้ามาข้างในสิ ฝ่าบาท”

    เน็ดกำลังง่วงไม่ได้อยู่ในอารมณ์คุยนัก ถ้าเขียนแบบภาษาบ้านๆ “เอาไงก็เอา เข้ามาสิ”

    ..................................................................

    หน้า 136
    เซอร์โบรอสกับเซอร์เมอรินรออยู่ข้างหลังโรเบิร์ตกับองครักษ์อีกสิบสองคน

    ต้นฉบับ - Ser Boros and Ser Meryn waited behind him with a dozen guardsmen
    ผมแปล - ...เซอร์เมอร์รินและองครักษ์อีกสิบกว่าคน

    คำว่า dozen ไม่ได้แปลว่า 12 เท่านั้น แต่หมายถึง จำนวนมาก ก็ได้ครับ ในบริบทนี้ รวมถึงหลายๆ บริบท พอใช้เลข 12 เป๊ะ ผมว่าตลกมาก เพราะดูแล้วไม่ใช่อารมณ์ที่ใครจะมานั่งนับเลย ไม่ใช่แค่ตรงนี้แต่มีอีกหลายจุด

    อ้างอิง Merriam-Webster
    : an indefinitely large number <dozens of times>

    ..................................................................

    หน้า 137
    องครักษ์ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังเป็นระยะทางใกล้ๆ

    ต้นฉบับ - the guard had fallen back a small distance
    ผมแปล - องครักษ์ถูกทิ้งห่างออกไปเป็นระยะไม่ไกลนัก

    ไม่มีข้อคิดเห็น

    ..................................................................

    หน้า 138
    ชื่อของนางคือวิลลา

    ผมแปล - ชื่อของนางคือไวลา

    ตรงนี้ไม่มีอะไรครับ แค่เผื่อใครดูซีรีส์ ในซีรีส์จะออกเสียง ไวลา

    ..................................................................

    หน้า 139
    เพียงเพื่อจะพบเมื่อไปถึงว่าเซอร์จอราห์ลงเรือหนีไปไกลเกินเงื้อมมือของดาบไอซ์

    ต้นฉบับ - only to find when he arrived that Jorah had taken ship beyond the reach of Ice
    ผมแปล - เพียงเพื่อจะไปถึงแล้วพบว่าจอราห์ขึ้นเรือหนีไปไกลเกินเงื้อมมือของดาบไอซ์

    ไม่มีข้อคิดเห็น

    ..................................................................

    หน้า 139
    เวลาได้ผ่านไปแล้วห้าปีตั้งแต่เหตุการณ์นั้น

    ต้นฉบับ - Five years had passed since then
    ผมแปล - เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้วห้าปี

    ไม่มีข้อคิดเห็น

    ..................................................................

    หน้า 139
    ลอร์ดวาริสใช้ประโยชน์จากเขาอย่างมากทีเดียว

    ต้นฉบับ - Lord Varys makes good use of him
    ผมแปล - ลอร์ดวาร์ริสได้ใช้งานเขาอย่างคุ้มค่าทีเดียว

    ไม่มีข้อคิดเห็น

    ..................................................................

    หน้า 139
    ข้าอยากให้เขาเป็นศพเสียจริง

    ต้นฉบับ - I would rather he become a corpse
    ผมแปล -ให้กลายเป็นศพเสียจะดีกว่า

    คำว่า rather เป็นคำเชิงเปรียบเทียบครับ เช่น เลือกทางนั้นมากกว่า ชอบแบบนี้มากกว่า น่าจะเป็นยังงี้มากกว่า

    อ้างอิง Merriam-Webster

    rather
    1: with better reason or more propriety : more properly <this you should pity rather than despise — Shakespeare>
    4 : to the contrary : instead <was no better but rather grew worse>

    ..................................................................

    หน้า 139
    เดแนริส ทาร์แกเรียนแต่งงานกับจ้าวบนหลังม้าชาวดอธรากีคนหนึ่ง แล้วยังไง เราควรส่งของขวัญแต่งงานไปให้นางหรือไม่

    ต้นฉบับ - “Daenerys Targaryen has wed some Dothraki horselord. What of it? Shall we send her a wedding gift?”

    ผมแปล - “เดเนอริส ทาร์แกร์เรียนแต่งงานกับจ้าวบนหลังม้าชาวโดธราคี แล้วมีอะไร? เราควรส่งของขวัญแต่งงานไปให้นางอย่างนั้นหรือ?”

    ตรงนี้เอ็ดดาร์ดไม่ได้ถามจริงๆ หรอกครับ แต่กำลังประชด ถ้าเขียนภาษาบ้านๆ
    "เออ แต่งกับไอ้จ้าวบนหลังม้าชาวโดธราคีอะไรนั่นสักคน แล้วไง? จะให้ส่งของขวัญไปให้เรอะ?"

    ..................................................................

    หน้า 140
    ฝ่าบาท เด็กสาวคนนั้นยังแทบไม่โตเป็นสาวเลย

    ต้นฉบับ - Your Grace, the girl is scarcely more than a child
    ผมแปล - ฝ่าบาท เด็กสาวคนนั้นยังเยาว์อยู่เลย

    ไม่มีข้อคิดเห็น

    ..................................................................

    หน้า 140
    ...ถูกฉุดลากจากใต้เตียงไปเผชิญกับคมดาบ

    ต้นฉบับ - ...dragged her from beneath her bed to face the swords
    ผมแปล - ...ถูกทหารฉุดลากจากใต้เตียงเพื่อรับคมดาบ

    เผชิญ แปลว่า ชนกัน ปะทะกัน ผมว่าไม่ถูกต้องเท่าไหร่ ในบริบทนี้ เด็กคนนั้นถูกฆ่าด้วยดาบ ผมคิดว่า รับคมดาบ เป็นคำที่ถูกต้องกว่า ซึ่ง face แปลว่า รับ ก็ได้ครับ อ้างอิงพจนานุกรม Oxford

    face (verb)
    2) confront and deal with or accept: honesty forced her to face facts

    ..................................................................

    หน้า 140
    (เอ็ดดาร์ด) “การสังหารเด็กๆ... เป็นเรื่องที่ชั่วร้าย... สุดจะพูดถึงได้...”
    (โรเบิร์ต) “สุดจะพูดถึงได้งั้นรึ

    ต้นฉบับ
    (เอ็ดดาร์ด) “the murder of children... it would be vile... unspeakable...”
    (โรเบิร์ต) “Unspeakable?

    ผมแปล
    (เอ็ดดาร์ด) “การสังหารเด็กๆ . . . เป็นเรื่องที่ชั่วร้าย . . . เกินจะพรรณนา”
    (โรเบิร์ต) ‰“เกินจะพรรณา?

    unspeakable ผมมองว่าเป็นคำที่ไม่มีคำไทยที่สามารถสื่อได้ตรงตัว
    แต่โดยความหมายก็คือ มันแย่มาก เลวร้ายมาก อย่างสุดๆ จนไม่อยากจะพูดเลย
    ที่ สนพ แปลมาผมว่าใกล้เคียง แต่ในแง่อารมณ์ ต้องรุนแรงกว่านั้นมาก ผมจึงเลือกใช้ เกินจะพรรณา

    ..................................................................

    หน้า 141
    “ท่านไม่อาจลงมือกับรายนี้ได้ ใช่ไหม”

    ต้นฉบับ - “You can’t get your hands on this one, can you?”
    ผมแปล - “ท่านไม่อาจจับตัวเด็กคนนี้ได้ ใช่ไหม?”

    get one's hand on something เป็น idiom แปลว่า หามาไว้ในครอบครอง ไม่ใช่ ลงมือ
    การเอาคนมาไว้ในครอบครอง ก็คือการจับตัวนั่นแหละ

    อ้างอิง The Free Dictionary
    get/lay your hands on something
    - to succeed in obtaining something: If you ever get your hands on a copy, I'd love to have a look.

    ..................................................................

    หน้า 141
    พ่อค้าเนยแข็งชาวเพนทอสติดกามโรคบางคนได้ตัวนังนั่นกับพี่ชาย...

    ต้นฉบับ - Some pox-ridden Pentoshi cheesemonger had her brother and her walled up on his estate
    ผมแปล - พ่อค้าชีสกามโรคชาวเพนโทชิได้ตัวนังนั่นกับพี่ชาย...

    ตรงกามโรค ผมมองว่าโรเบิร์ตกำลังด่าครับ ตัวพ่อค้าไม่ได้ติดโรคจริงๆ หรอก
    ผมขออนุญาตแสดงตัวอย่างด้วยคำที่ไม่สุภาพนัก
    “ไอ้พ่อค้าห่า” vs “ไอ้พ่อค้าติดโรคห่า”

    ส่วน เพนทอส-เพนโทชิ
    เพนทอสเป็นชื่อเมือง ชาวเพนโทชิคือผู้อาศัย ทำนองเดียวกับ อิตาลี-ชาวอิตาเลียน

    ..................................................................

    หน้า 142
    สแตนนิสได้พิสูจน์ตัวเองอย่างชัดเจนแล้วจากการล้อมตีปราสาทสตอร์มส์เอ็นด์

    ต้นฉบับ - Stannis proved himself at the siege of Storm’s End, surely
    ผมแปล - สแตนนิสได้พิสูจน์ตัวเองอย่างชัดเจนแล้วจากศึกล้อมตีปราสาทวายุสลาย

    สแตนนิสไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองจาก การล้อมตี ได้หรอกครับ เพราะเขาเป็นฝ่ายที่ถูกตี
    ผลงานของสแตนนิส คือการที่รักษาปราสาทเอาไว้ได้ต่างหาก

    ส่วนในรายละเอียดปลีกย่อย the siege of Storm's End เป็นชื่อศึกหนึ่งในสงครามปฏิวิติของโรเบิร์ตครับ
    รายละเอียดของศึกสงครามครั้งนั้น สามารถอ่านได้ในกระทู้นี้

    ..................................................................

    หน้า 142
    เป็นอย่างนั้นแหละ” เน็ดจบประเด็นเงียบๆ และจับตามองไปด้วย “นอกเสียจากว่าท่านรับปากจะมอบเกียรตินั้นให้ผู้อื่นไปเสียแล้ว”

    ต้นฉบับ - “That is,” Ned finished quietly, watching, “unless you have already promised the honor to another.”
    ผมแปล - “นั่นคือ” เน็ดจบประเด็นเงียบๆ และจับตามองไปด้วย “นอกเสียจากว่าท่านรับปากจะมอบเกียรตินั้นให้ผู้อื่นไปเสียแล้ว”

    That is เป็น idiom เช่นกันครับ เป็นการพูดคั่น ว่า กำลังจะอธิบายเพิ่มเติมอะไรอีก

    อ้างอิง The Free Dictionary
    that is
    - To explain more clearly; in other words: on the first floor, that is, the floor at street level.

    ผมขออนุญาตเอาตัวอย่างจากพจนานุกรมมาแปลเป็นภาษาบ้านๆ ในอารมณ์เดียวกันให้เทียบดูนะครับ
    “ที่ชั้นแรกน่ะ... คือ... ชั้นเดียวกับถนนน่ะ”

    ..................................................................

    หน้า 143
    ทั้งชีวิต โชคลาภ และเกียรติยศของเขาล้วนผูกติดอยู่กับของข้า

    ต้นฉบับ - his life and fortune and honor all bound to mine.
    ผมแปล - ทั้งชีวิต อนาคต และเกียรติยศของเขาล้วนผูกมัดอยู่กับข้า

    fortune น่าจะตรงกับ ชะตาชีวิต มากกว่าโชคลาภ อ้างอิง Merriam-Webster

    fortune (noun)
    1) what is going to happen to someone in the time ahead.
    2) a very large amount of money
    3) a state or end that seemingly has been decided beforehand

    ..................................................................

    หน้า 146
    เขาไม่ใช่จอน แอร์รินที่จะปราบพยศพระราชาแล้วสั่งสอนให้เกิดสติปัญญา

    ต้นฉบับ - He was no Jon Arryn, to curb the wildness of his king and teach him wisdom
    ผมแปล - เขาไม่ใช่จอน อาร์รินที่จะปราบพยศพระราชาแล้วสั่งสอนสติปัญญาให้กับเขา

    ... ไม่มีข้อคิดเห็น


    บทที่ 13 - ทีเรียน

    หน้า 149
    ทีเรียนเดินทางมากับผู้ติดตามของเขาเองสองคน ตามที่เหมาะสมควรสำหรับพวกแลนนิสเตอร์

    ต้นฉบับ - Tyrion traveled with two of his own men, as befit a Lannister
    ผมแปล - ทีเรียนเดินทางมากับผู้ติดตามของเขาเองสองคน อย่างสมควรสำหรับแลนนิสเตอร์

    a Lannister ตรงนี้เป็นเอกพจน์น่ะครับ หมายถึงตัวทีเรียนคนเดียว
    แล้วบทนี้ก็เป็นมุมมองของทีเรียนเองด้วย ใช้คำว่า "พวกแลนนิสเตอร์" แล้วมันเหมือนพูดถึงคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง

    ..................................................................

    หน้า 149
    เครื่องหน้าของเขาซ่อนอยู่หลังเครา...

    ต้นฉบับ - his features hidden behind a beard...
    ผมแปล - โครงหน้าของเขาซ่อนอยู่หลังเครา...

    ไม่รู้ผมอ่อนภาษาไทยเองรึเปล่า แต่ผมไม่เคยได้ยินคำว่า เครื่องหน้า นะครับ

    ..................................................................

    หน้า 151
    พวกเขาจำต้องหันกลับไปพึ่งพาตัวเองอย่างเต็มที่

    ต้นฉบับ - they were thrown back on their own resources
    ผมแปล - พวกเขาจำต้องหันกลับไปใช้ทรัพยากรของตัวเอง

    เนื้อเรื่องในส่วนนี้ คือคณะของทีเรียนอาศัยนอนใต้หลังคาของสิ่งปลูกสร้างในช่วงแรกๆ
    แต่พอสิ่งปลูกสร้างน้อยลงๆ ก็ต้องเริ่มตั้งค่ายพักแรมกันเอง
    ซึ่งค่ายพักแรมเหล่านั้น เป็นสิ่งที่พวกทีเรียนขนกันมาอยู่แล้ว ผมจึงเลือกใช้คำว่า ทรัพยากรของตัวเอง

    ..................................................................

    หน้า 153
    ตรงนี้ไม่มีอะไร แปะให้ลองอ่านดูเฉยๆ ครับ

    ฉบับแปล
    จากที่นั่น กะโหลกเรียงลำดับไล่ขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสามปีศาจอันยิ่งใหญ่ในลำนำและเรื่องเล่า มังกรที่เอกอน ทาร์แกเรียน และเหล่าน้องสาวปลดปล่อยบนเจ็ดราชอาณาจักรในยุคโบราณ นักขับลำนำได้มอบชื่อของทวยเทพให้กับพวกมัน ได้แก่ บาเลอเรียน, เมอแรกซิส และเวการ์ ทีเรียนยืนอยู่ระหว่างขากรรไกรที่อ้ากว้างของพวกมัน พูดอะไรไม่ออกและรู้สึกยำเกรง ผู้คนอาจขี่ม้าลงไปในลำคอของเวการ์ได้ แม้จะไม่ได้ขี่กลับออกมาอีก เมอแรกซิสยิ่งตัวใหญ่กว่าอีก และที่ใหญ่ที่สุดในหมู่พวกมัน คือบาเลอเรียน หรือมฤตยูดำ มันกลืนออร็อคส์ได้ทั้งตัว หรือแม้แต่ช้างแมมมอธขนยาวที่ว่ากันว่าเร่ร่อนอยู่บนผืนแผ่นดินหนาวเย็นรกร้างถัดจากเมืองท่าอิบเบ็นไป

    ผมแปล
    จากจุดนั้น กะโหลกเรียงลำดับไล่ขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสามปีศาจอันยิ่งใหญ่ในบทเพลงและนิทาน มังกรที่เอกอน ทาร์แกร์เรียนและน้องสาวเคยปลดปล่อยบนเจ็ดราชอาณาจักรในยุคโบราณ กวีทั้งหลายได้มอบชื่อของทวยเทพให้กับพวกมัน บัลเลอร์เรียน เมอร์เร็กซัส เวห์การ์ ทีเรียนยืนอยู่ระหว่างขากรรไกรที่อ้ากว้าง เขารู้สึกยำเกรงจนพูดอะไรไม่ออก หลอดอาหารของเวห์การ์มีขนาดพอให้เราขี่ม้าลงไปได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้ขี่กลับออกมาอีก เมอร์เร็กซัสตัวใหญ่ยิ่งกว่า และที่ใหญ่ที่สุดในหมู่พวกมันคือบัลเลอร์เรียน มฤตยูดำ มันกลืนออร็อชได้ทั้งตัว หรือแม้แต่พวกแมมมอธขนยาวที่กล่าวกันว่าเร่ร่อนอยู่บนผืนแผ่นดินหนาวเย็นรกร้างนอกท่าเรือของอิบเบน

    ..................................................................

    to be continued
    Northenon, oakhyco และ PiTaRoZ ถูกใจข้อความนี้
  4. จอง
  5. จอง
  6. จอง
  7. จอง
  8. silapss

    silapss นักดาบฝึกหัด

    กราบขอบพระคุณ
    ในความมุ่งมั่นอุตสาหะครับ
    เป็นกำลังใจให้ครับ
    [​IMG]
    Kurodo และ KAOWOAT'Z ถูกใจข้อความนี้
  9. Foxhound

    Foxhound พลเดินเท้า

    ไม่ได้อ่านเล่ม 1.1 ครับ ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนี้

    ปล.ยังไม่ได้ไปซื้อเลย จะซื้อดีไหมเนี่ย :(
  10. กามาพจร

    กามาพจร นักดาบฝึกหัด

    ปกติอ่านอย่างเดียว แต่ขอสมัครสมาชิกมาเพื่อให้กำลังใจโดยเฉพาะ สู้ต่อไปนะครับ

    ปล.มิน่าล่ะ ผมอ่านแล้วบางทีมันประโยคแปลกๆขัดๆ ไอ้ตรงรังกานี่่ทำเอางงไปเหมือนกันครับ
    KAOWOAT'Z และ สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  11. ขอบคุณครับคุณ กามาพจร

    ซื้อได้ครับ โดยรวมผมว่าโอเคเลยนะครับ แค่จุดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้เท่านั้นเอง ก็มาอ่านเทียบในนี้ดูได้ครับ
    Foxhound ถูกใจข้อความนี้
  12. Gutter13

    Gutter13 Petyr's Artist

    ขอบคุณ คุณสุนัขป่าโลกันตร์ มากเลยครับเป็นกำลังใจให้ เยอะๆ อีกแรงเลยครับ
    ผมจะติดตาม A Song of Ice and Fire ไปทุกเล่มทุกตอน ที่แปลออกมาเลยครับผม
    และ :winter: Winter is Coming :winter:
  13. BLUE KNIGHT

    BLUE KNIGHT นักดาบฝึกหัด

    ก็ว่าทำไมเป็นหนังสือต้องแปลเป๊ะๆเลยเหรอ อ่านแล้วฝืดๆ ทำให้อารมณ์ไม่ถึง :read:
    mayfz ถูกใจข้อความนี้
  14. ปลาวาฬภูเขา

    ปลาวาฬภูเขา อัศวินไร้นาย

    ปัญหาไม่ใช่แปลผิดหรือถุกหรอกครับ...ประเด็นคือการตรวจทานและ "แก้ไข" โดยไม่ให้โอกาสผู้แปลได้แสดงทัศนอะไรเลยต่างหาก:f2:
    PiTaRoZ, princetofu และ สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  15. thelordofthelinks

    thelordofthelinks พลเดินเท้า

    แย่เลยครับ เราเป็นแฟนเราต้องมีความเป็นอารมณ์ร่วมมากกว่าอยู่แล้ว เค้าน่าให้เครดิตเราตรงจุดนี้ด้วย
  16. Stykyfingers

    Stykyfingers นักดาบฝึกหัด

    ถ้าจะแปลเป๊ะๆ แล้วอ่านเป็นภาษาไทย ก็คงจะขัดๆ หูพิลึกนะ มันขึ้นอยู่ที่ว่าผู้แปลมีวิธีและไอเดียอย่างไรที่แปลออกมาแล้วให้คนอ่านได้อารมณ์ของเนื้อเรื่องและเข้าถึงตัวละครนั้นๆ ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจว่าภาษาอังกฤษ มันก็ดิ้นได้เหมือนภาษาไทยน่ะแหล่ะ และผมเห็นด้วยกับ ปลาวาฬภูเขา "ประเด็นคือการตรวจทานและ "แก้ไข" โดยไม่ให้โอกาสผู้แปลได้แสดงทัศนอะไรเลยต่างหาก" ... เราแปลให้คนไทยอ่านนะครับ.;)
    PiTaRoZ และ สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  17. brawatcher

    brawatcher ทหารม้า

    จากที่อ่านดู โดยรวมผมว่าสำนักพิมพ์ ก็ทำได้ดีนะครับ อาจมีบางอย่าง ที่เค้าไม่เข้าใจเรื่องราวลึกเท่าคุณสุนัขป่าโลกันตร์
    แต่ก็ไม่ถึงกับผิดเพี้ยนจนรับไม่ได้
    ในบางประเด็นใหญ่ๆ ผมกลับรู้สึกเห็นด้วยกับสิ่งที่สำนักพิมพ์ตัดสินใจ เช่นการใช้คำว่า "ลูกนอกสมรส" คำเดียว
    แน่นอนว่าในบางบริบท มันอาจดูไม่เข้าถึงอารมณ์เท่ากับการใช้คำอื่น เช่น "ลูกไม่มีแม่" แต่ในเมื่อต้นฉบับเลือกที่จะให้
    คำนี้เป็นคำเฉพาะ ที่ใช้พูดจาได้ในหลายทาง ทั้งเป็นการอธิบาย เรียกเฉยๆ ดูถูก หรือถากถาง ก็ใช้คำนี้เป็นคำเฉพาะ
    ผมก็เห็นว่า ก็ควรใช้เป็นคำเฉพาะคำเดียวเช่นกัน

    และในประโยคสนทนาบางอย่าง ที่คุณสุนัขป่าฯ แปลโดยเพิ่มเติมอารมณ์เข้าไปด้วยเพราะเห็นว่า เหตุการณ์นั้นมันควรจะมีอารมณ์
    ของตัวละครอยู่ด้วย แต่ทางสำนักพิมพพ์ เลือกที่จะแปลให้ตรงตัวตามภาษาต้นฉบับมากกว่า ในข้อนี้ผมเองก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับ
    สำนักพิมพ์นะครับ เพราะผมคิดว่าในฐานะคนอ่าน ไม่มีทางที่เราจะจินตนาการอารมณ์ของตัวละครได้ในแบบเดียวกันเป๊ะๆ
    และนี่คือเสน่ห์ของหนังสือครับ การเพิ่มบางอย่างที่เกินๆเข้าไป โดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มอรรธรสนั้น บางครั้งมันเป็นเป็นส่วนเกิน
    และชี้นำคนอ่านไปในทิศทางหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเราเองก็ไม่มีทางทราบได้ว่า คนแต่ง ลุงจอร์จ ของเรา แกตั้งใจอย่างนั้นรึเปล่า
    ซึ่งที่ทางสำนักพิมพ์แปลให้กลางๆ และตรงกับภาษาต้นฉบับนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ เป็นการให้เกียรติ กับเจ้าของบทประพันธ์ด้วย
    พ่อครัวบางคน เค้าก็อยากให้ชิมรสชาติที่เขาปรุงให้ครับ การเติมเครื่องปรุง น้ำตาล พริก น้ำปลาเข้าไป พ่อครัวบางคนอาจจะไม่ชอบ

    ในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นว่า การปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างของทางสำนักพิมพ์ ก็ควรมีการบอกกล่าว คุณสุนัขป่าฯ ด้วยเช่นกัน
    เพื่อที่จะได้อธิบายมุมมองของแต่ละฝ่าย งานจะได้ออกมาดีที่สุด สำหรับคนที่รักนิยายชุดนี้ เพราะมีหลายคำทีเดียว ที่ทางสำนักพิมพ์เลือกใช้แบบไม่ถูกความหมาย เช่นคำว่ามอบดาบเป็นต้น

    ขอบคุณ คุณสุนัขป่าฯ มากๆนะครับ ช่วยแปลเรื่องราวเรื่องนี้ ทั้งส่วนของซีรีส์ และหนังสือ
    ผมเชื่อว่า ในอนาคต สิบปีข้างหน้า นิยายชุดนี้ จะถูกยกย่อง ให้อยู่ในระดับเดียวกับ Lord of the Ring ครับ
    เขี่ย Harry Potter ให้กลายเป็นนิทานอีสปธรรมดาๆ
    Melda, Gutter13, marizelee และอีก 3 คน ถูกใจข้อความนี้
  18. ผมกลับมองว่า การสื่อตามต้นฉบับที่แท้จริง ต้องคงอารมณ์ต้นฉบับไว้มากกว่าตัวอักษรครับ

    ในเรื่องการพูดประชดประชัน ถากถาง ผมมองว่าถ้าเป็นคนที่เข้าใจเนื้อเรื่องเข้าใจภาษาจริงๆ จะได้รับข้อความเหล่านั้นและรับรู้อารมณ์ได้เหมือนกันครับ ซึ่งถ้าผมไม่สื่อข้อความเหล่านั้นออกมาผมจะมองว่าผมแปลบกพร่อง ถึงจะพิสูจน์ไม่ได้แต่ผมค่อนข้างมั่นใจครับ

    คำว่า bastard ไม่ใช่คำเฉพาะนะครับ เป็นคำธรรมดาๆ ที่มาหลายความหมายมีหลายการใช้งานเหมือนที่ผมว่าไว้นั่นแหละครับ
    PiTaRoZ, KAOWOAT'Z และ brawatcher ถูกใจข้อความนี้
  19. heijibbry

    heijibbry นักดาบฝึกหัด

    เป็นกำลังใจให้คุณสุนัขป่าโลกันตร์ค่ะ ยังไงก็จะติดตามผลงานนะคะ :)
    KAOWOAT'Z ถูกใจข้อความนี้
  20. ต่อน่ารัก

    ต่อน่ารัก นักดาบฝึกหัด

    ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับคุณสุนัขป่าโลกันต์มาก โดยเฉพาะคำว่า โรเบิร์ตที่หนึ่ง กับผู้สำเร็จราชการ ไม่เข้าใจจริงๆว่าเค้าแปลแบบนั้นได้ไง เพราะเป็นคำที่เข้าใจได้เฉพาะอยู่แล้ว คิดไปคิดมา ก็ถือว่ากินส้มตำแกล้มชีสแล้วกันครับ ได้อรรถรสไปอีกแบบ นึกว่านั่งอ่านฉบับภาษาอังกฤษไปก็แล้วกันครับ อิอิ พึ่งอ่าน 1.1 จบเมื่อคืน คืนนี้บรรเลง 1.2 ต่อ ไม่รู้จะได้อ่านถึงตอนไหนอีกคืนนี้ 555 เมื่อคืนก็อ่านถึง ตีห้ากว่าๆ ทำงานตาปรือๆเลยตรู
    KAOWOAT'Z และ สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  21. ต่อน่ารัก

    ต่อน่ารัก นักดาบฝึกหัด

    ส่วนที่สำนักพิมพ์แปลออกมาเพี้ยนๆ ถ้าคนอ่านหนังสือแปลมาเยอะๆน่าจะเดาออกได้เช่น ตอนโรเบิร์ตถามเรื่องส่งของขวัญให้เดนาริส ก็คงเดากันออกว่าเป็นการประชด แต่สำหรับเยาวชนอ่านหนังสือใหม่ๆละ โอ๊วว น่าเป็นห่วงสำนวนแปลจริงๆ โดยส่วนตัวผม ถ้าจะแปลต้องให้ได้อรรถรสแบบเจ้าของภาษา ถ้างั้นจะหาฉบับแปลทำไม อ่านฉบับภาษาอังกฤษเปิดทอกกิ้งดิกช์ ดีกว่าไหม (อันนี้ล้อเล่น เพราะกว่าจะอ่านแฮรี่ฉบับภาษาอังกฤษได้ครึ่งเล่ม ฉบับแปลมาซะแล้ว 555) ทำให้นึกถึงสำนวนแปลของอาจารย์สุวิทย์ ขาวปลอด ใครอายุเกิน 35 ปี น่าจะจำสำนวนแปลได้ ถ้าจะแปลมันต้องแปลให้ได้อรรถรสแบบนั้น แต่โดยรวมสำนักพิมพ์ก็แปลออกมาได้ดีระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีซีรีย์จะเข้าถึงอารมณ์มันปล่าวเนี๊ยะ ยังไงฉบับตอน 2 ขอร้องล่ะ อย่าแปลว่า Fire in the hole เป็น ไฟในหลุมเลยน่ะ ขอร้อง 555
    KAOWOAT'Z ถูกใจข้อความนี้
  22. freedom_yok

    freedom_yok นักดาบฝึกหัด

    ส่วนตัวอ่านภาษาไทยก็ถึงว่ามันแม่งๆ พอได้มาอ่านในนี้แล้วรู้สึกว่าชอบที่คุณสุนัขป่าโลกันต์แปลมากกว่านะคะ ติดตามซับจากซีรี่มาตลอด การใช้คำได้สมูดและเข้าใจได้ง่ายกว่าที่ทางสำนักพิมพ์แปลคะ
  23. ntsystem

    ntsystem พลเดินเท้า

    ผมสะดุดตรงนี้เหมือนกัน >.<

    และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่คุณสุนัขโลกันตร์แปลนะ
  24. ntsystem

    ntsystem พลเดินเท้า

    *** เพิ่มเติมครับ

    ของผมอยู่หน้าที่ 22 ย่อหน้าสุดท้ายนะครับ :)

    อยู่หน้า 99 ย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า "มันสอนความรักต่างๆ..."


    อยู่หน้า 108 ย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า "เมื่อออกมานอกห้อง..."

    อยู่หน้า 119 ย่อหน้าที่สอง
    PiTaRoZ และ สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  25. Foxhound

    Foxhound พลเดินเท้า

    ขอถามอีกนิดว่าทำไมแผนที่ถึงมีไม่เท่าฉบับอังกฤษอ่ะครับ ???

Share This Page