บทความใน GoT wiki

กระทู้จากหมวด "พูดคุย Game of Thrones" โพสต์โดย Levantine Storyteller, 11 มกราคม 2013.

  1. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    บทความที่มีอยู่ในตอนนี้แปลมาจาก gameofthrones.wikia.com ใช่มั้ยครับ?
    hrp2711 ถูกใจข้อความนี้
  2. westeros.org ครับ
    muggle_A ถูกใจข้อความนี้
  3. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    ตอนนี้มีคนเขียนบทความอยู่กี่คนครับ? คนที่อยากช่่วยเขียนต้องทำอะไรบ้างครับ?
  4. มีผมคนเดียวน่ะครับ ถ้าสนใจเขียน ก็ ลองเขียนลงบอร์ดได้เลยครับผม
  5. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    จำกัดเฉพาะเนื้อหาในซีรีส์ Game of Thrones ไม่เอาเนื้อหาในนิยาย Song of Ice and Fire ใช่มั้ยครับ?
    ต้องทำลิงค์ในเนื้อหาเหมือนใน wikia รึเปล่า?
  6. ใน wiki ผมพยายามอิงหนังสือเป็นหลักน่ะครับ แล้วก็พยายามใช้คำไทยให้ตรงกับที่แปลลงหนังสือ แต่นอกจากนั้นแล้วผมยังไม่มีแผนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเลยครับ
  7. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    นิรลักษณชน (Faceless Men)
    "ข้าไม่เคยพบใครที่เปลี่ยนหน้าตาได้เหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้ามาก่อน"
    - โดเรียห์ -

    นิรลักษณชนเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในเสรีนครแห่งบราวอส แม้ว่าสมาชิกในองค์กรมาจากทุกสารทิศทั้งในเอสซอสและเวสเทรอส พวกเขาคือสมาคมมือสังหารที่เรียกค่าตอบแทนสูงลิบลิ่วแต่ก็ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความสามารถระดับพระกาฬ นิรลักษณชนสามารถเปลี่ยนใบหน้าและรูปลักษณ์จนกลายเป็นคนๆใหม่ได้

    ในนิยาย Song of Ice and Fire (ลำนำแห่งเหมันต์และคิมหันต์) สมาคมนิรลักษณชนพำนักอยู่ในกัณหเศวตาราม (House of Black and White) ซึ่งเป็นศาสนสถานในบราวอสที่อุทิศแด่ "พหุพักตรเทพ" ("Many Faced God") ซึ่งทุกผู้ต้องเผชิญ (เป็นการอ้างอิงถึงความตาย เพราะทุกศาสนามีเทพแห่งความตายหรือเทพเจ้าผู้มีอำนาจเหนือความตายในกรณีของศาสนาเอกเทวนิยม) ถึงแม้จะเป็นสมาคมมือสังหาร แต่พวกเขาก็มีความเชื่อทางคัมภีรภาพและศาสนาที่เป็นเหตุผลให้พวกเขาปฏิเสธการจ้างวานที่ขัดต่อความเชื่อเหล่านั้น

    นิรลักษณชนเป็นองค์กรโบราณซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนการล่มสลายของวาลีเรีย บรรพชนของพวกเขาเป็นทาสที่ทำงานในเหมืองใต้จุทสัคนี (The Fourteen Fires) ซึ่งเป็นมหาทิวเขาไฟที่ปะทุและทำลายแคว้นกรรมสิิทธิธราธิปไตยวาลีเรียน (Valerian Freehold) เมื่อสี่ศตวรรษก่อน

    นิรลักษณชนเรียกค่าตอบแทนแพงลิ่วแต่ก็โด่งดังด้านความสำเร็จอันหาที่เปรียบมิได้ ราคาจะขึ้นตามความสลักสำคัญของเป้าหมายและความยากของงาน นิยายเล่มแรกกล่าวไว้ว่าการว่าจ้างมือสังหารนิรลักษณชนให้สังหารเดเนรีส ทาร์กาเรียนต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงยิ่งกว่าการจ้างกองทัพทั้งกอง อนึ่ง นิรลักษณชนจะปฏิเสธสัญญาจ้างถ้าหากการสังหารเป้าหมายขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาของเขา ค่าจ้างแพงลิบลิ่วนี้คือสิ่งแลกเปลี่ยนกับผลงานอันถี่ถ้วนและพวกเขาจะเลี่ยงการสังหารผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องถ้าเป็นไปได้ พวกเขามักยอมเสี่ยงเพื่อกลบเกลื่อนการสังหารให้เหมือนอุบัติเหตุซึ่งช่วยส่งเสริมความลี้ลับของสมาคมนิรลักษณชน ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์ชุด จาเก็นฆ่าทิคเลอร์ด้วยการย่องเข้าหาแล้วจับโยนตกกำแพงปราสาทแล้วหลบหนีไปทำให้พยานรู้เห็นไม่แน่ใจว่าผู้ตายถูกสังหารจริงหรือไม่ จาเก็นจำเป็นต้องฆ่าอเมอรี่ ลอร์ชด้วยลูกดอกพิษเพราะเวลากระชั้นชิด

    นิรลักษณชนไม่ใช่นักแปลงกายสมบูรณ์แบบ พวกเขาไม่สามารถฝืนกฎการสงวนมวลสารและยืดหดร่างกายได้ แต่พวกเขาสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกได้อย่างน่าทึ่งภายใต้ขอบเขตเหล่านี้ ไม่ว่าชายหรือหญิงก็กลายเป็น "นิรลักษณชน" ได้ ความสามารถของเหล่านิรลักษณชนไม่ได้มาจากพันธุกรรมหรือจำเพาะเจาะจงแก่ชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ใครๆก็เป็นนิรลัษณชนได้ด้วยการฝึกฝนศาสตร์ลี้ลับของสมาคมจนช่ำชอง ความสามารถของนิรลักษณชนยังเป็นที่กังขาว่าจะจัดให้เป็น "เวทย์มนตร์" ได้หรือไม่ เพราะพวกเขาใช้เครื่องมือ, ยาน้ำ, และการฝึกปรือเพื่อการแปลงกาย ไม่ใช่การร่ายคาถาอาคมแต่อย่างใด

    ใช้ได้มั้ยครับ?
    บังเอิญผ่านมา และ Emsira ถูกใจข้อความนี้
  8. Midnights

    Midnights พลเดินเท้า

    แปลเรื่องที่อยากรู้พอดีเลยแหะ ขอบคุณมากครับ :)
  9. ใช้ศัทพ์แปลไทยน่าสนใจมากเลยครับ แหม่เสียดายน่าจะได้มาคุยกันตั้งแต่ก่อนแปลหนังสือ ถ้ายังไงพอลง wiki แล้วผมอาจจะขออนุญาตแปลงศัพท์ตรงกับหนังสือภาษาไทยบ้างนะครับ

    อยากใช้ log in ใน wiki ว่าอะไร ส่งอีกามาบอกได้เลยครับ
  10. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    ขอบคุณครับ แต่ก็มีบางตัวที่ผมยังไม่แน่ใจว่าถูกรึเปล่า อย่างเช่น จุทสัคนี (จุทส + อัคนี) ถ้ามีใครรู้ก็บอกกันด้วยนะครับ
    หนังสือที่ว่านี่หมายถึง The Song of Ice and Fire ใช่มั้ยครับ? โอ้... แค่ผมแปลแค่นี้ก็ปาเข้าไปตั้งเกือบครึ่งวันกว่าจะหาคำบาลีสันสกฤตที่แปลชื่อพวกนี้ได้
    อีกานี่หมายถึงตัวเลือกส่งข้อความส่วนตัวใช่มั้ยครับ?
    ntsystem ถูกใจข้อความนี้
  11. ใช่ครับ

    เยี่ยมครับ ผมใช้ศัพท์ง่ายมากเลย พอดี นอกจากไม่เก่งภาษาไทยเท่าไหร่แล้ว ก็ไม่มีแหล่งหาข้อมูลด้วยครับ ฮา... แต่ชื่อหนังสือนี่ผมไม่ได้คิดเหมือนกันนะครับ ปล่อยให้สำนักพิมพ์คิดให้ ไม่รู้จะออกมาเป็นอะไร
  12. ntsystem

    ntsystem พลเดินเท้า

    เอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้ทั้งสองท่านครับ :f1:
  13. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    ขอบคุณที่ชมครับ แต่ผมยังเป็นแค่มือใหม่ ขอแนะนำให้ลองอ่านโอดิสซี, ปกรณัมปรัมปรา, นิทานเวตาล แล้วก็พวกวรรณกรรมแปลไทยเก่าๆ โดยเฉพาะเรื่องแรก นักแปลหนังสือเล่มนี้ชื่อสุริยฉัตร ชัยมงคล เป็นนักแปลที่เก่งที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา อ่านงานแปลชั้นยอดสักระยะก็จะเริ่่มเข้าใจการใช้คำเองครับ
    สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  14. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    บราวอส (Braavos)
    ที่ตั้ง: เสรีนคร, เอสซอส (The Free Cities, Essos)
    ประเภท: พาณิชยนครรัฐ (Mercantile city-state)
    ผู้ปกครอง: จ้าวสมุทร (The Sealord)
    ศาสนา: ผสมผสาน
    สถาบัน: อโยธนาคารแห่งบราวอส (The Iron Bank of Braavos)
    สมาคมนิรลักษณชน (The Guild of the Faceless Men)
    สถานที่ที่ควรรู้จัก: กุมภัณฑ์แห่งบราวอส (The Titan of Braavos)
    กัณหเศวตาราม (The House of Black and White)
    สมุทราธิปมณเฑียร (The Sealord's Palace)
    ท่าเรือนักค้าขยะ (The Ragman's Harbor)
    ท่าเรือสีม่วง (The Purple Harbor)
    ท่าเรือตาจัตุรัส (The Chequy Port)
    ศรัทธาธรรมโพ้นทะเล (The Sept-Beyond-the-Sea)
    อายุ: 800 ปี
    ผู้สถาปนา: จันทรคายกคณะ (The Moonsingers)

    บราวอสเป็นหนึ่งในบรรดาเสรีนครซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเวสเทรอสอีกฟากของทะเลคอด (Narrow Sea) เมืองนี้ตั้งอยู่ทิศเหนือสุด มั่งมีที่สุด และอาจจะเป็นเสรีนครที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดด้วย อาณาเขตของบราอวอสครอบคลุมเกาะเล็กเกาะน้อยหลายร้อยเกาะซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยสะพานหินขนาดเล็ก เหล่านครินทร์แห่งบราอวอสมีอำนาจปกครองเหนือทะเลสาบน้ำเค็มรายรอบและพื้นที่แนวชายฝั่งทะเลแถบหนึ่งซึ่งวางตัวตามทางใต้สู่เพนตอส (Pentos)

    เมืองนี้มีปฏิมากรกุมภัณฑ์แห่งบราวอส (Titan of Braavos) ขนาดมหึมาคอยปกปักษ์รักษาท่าเรือทางเข้าเมือง ประชาชนของบราวอสเป็นที่รู้จักในนาม "บราโวซี" (Braavosi) พวกเขาเป็นนักเดินเรือและนักดาบนามอุโฆษ

    พลเมืองที่ควรรู้จัก
    ซีริโอ ฟอเร็ลล์ ชาวบราอวอสซีผู้เป็นอดีตนักดาบมือหนึ่งแห่งบราอวอส อาศัยอยู่ในคิงส์แลนดิ้ง (King's Landing) ชะตากรรมของเขายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเพราะว่าผลการต่อสู้ระหว่างเขาและเซอร์เมอริน แทรนต์แห่งราชองครักษ์ (Kingsguard) ยังไม่เป็นที่รู้กัน

    จาเก็น ฮการ์ สมาชิกคนหนึ่งของ "นิรลักษณชน" (Faceless Men)

    ในนิยาย
    ในนิยาย "ลำนำแห่งเหมันต์และคิมหันต์" (A song of Ice and Fire) บราวอสตั้งอยู่ที่ปลายสุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีฟเอสซอส ตรงไปทางทิศตะวันออกของโกรกแห่งอาร์ริน (the Vale of Arryn) เมืองนี้คือหนึ่งเดียวในบรรดานพเสรีนคร (Nine Free Cities) ที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมของแคว้นกรรมสิทธิธราธิปไตยวาลีเรียน (Valerian Freehold) บราวอสได้รับการสถาปนาโดยเหล่าทาสแจวเรือแกลลีย์หลังก่อกบฎและสังหารผู้คุมชาววาลีเรียน ด้วยการนำทางโดยเหล่าจันทรคายกคณะ (Moonsingers) พวกเขาล่องเรือไปสุดทางทิศเหนือในทะเลคอดเพื่อค้นหาสถานที่หลบภัย พวกเขาก่อตั้งนครลับแลแห่งบราวอสขึ้นและรักษาที่ตั้งไว้เป็นความลับนานกว่าสี่ศตวรรษ พวกเขาเปิดรับผู้ลี้ภัยและทาสหลบหนีในระหว่างการสร้างเมือง เนื่องด้วยวิสัยของการสถาปนานครนี้ บราวอสจึงไม่ใช้แรงงานทาสและไม่ยินดีทำธุรกิจกับผู้ใช้แรงงานทาส และมักอาศํยแสนยานุภาพและพาณิชยานุภาพเพื่อผลักดันให้แว่นแคว้นอื่นๆเลิกทาสเสีย หลังวินาศภัยแห่งวาลีเรีย (Doom of Valyria) เมื่อสี่ศตวรรษก่อน บราวอสจึงเผยตนต่อโลกภายนอก และเนื่องจากเสรีนครอื่นๆตกอยู่ในความสับสนอลหม่านเป็นเวลาหลายทศวรรษหลังวินาศภัย บราวอสจึงเถลิงอำนาจเป็นเสรีนครที่ยิ่งใหญ่เกียงไกรที่สุด เนื่องจากจุดกำเนิดอันหามีผู้ใดเสมอเหมือน บางครั้งบราวอสจึงถูกเรียกว่าบุตรนอกสมรสของวาลีเรีย

    นครบราวอสแผ่ขยายครอบคลุมเกาะหลายร้อยเกาะในทะเลสาบน้ำเค็มอันกว้างใหญ๋ ผืนแผ่นดินใหญ๋ใกล้เคียงเป็นมาบเสียส่วนมาก ส่วนฟากติดทะเลของเมืองได้รับการปกป้องจากเกาะภูเขาสูงซึ่งวางตัวตามแนวครึ่งวงกลมล้อมรอบเมือง มีคลองเพียงคลองเดียวที่กว้างและลึกพอจะรองรับเรือเดินสมุทรได้ คลองนี้ถูกปกป้องโดยปฏิมากรขนาดมโหฬารอันมีนามว่ากุมภัณฑ์แห่งบราวอส ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักเขต, ประภาคาร และปราการป้องกัน เลยออกไปจากกุมภัณฑ์คืออู่เรืออันใหญ๋โตที่เรียกว่าคลังสรรพาวุธ (the Arsenal) ซึ่งสามารถต่อเรือแกลลีย์สงคราม (war galley) จากวัสดุท้องถิ่นได้ในวันเดียว ตัวเมืองอยู่ห่างออกไปจากนั้น

    ตัวเมืองประกอบด้วยเกาะไร้กำบังล้อมรอบจำนวนหนึ่งร้อยเกาะที่เชื่อมต่อกันด้วยสะพานและแยกจากกันด้วยผืนน้ำทั้งที่เป็นทางน้ำธรรมชาติหรือคลอง หลายส่วนของตัวเมืองจมน้ำเมื่อเวลาเนิ่นนานผ่านไป แต่ก็ยังสามารถเห็นยอดอาคารโผล่พ้นน้ำอยู่ นครนี้มีท่าเรือขนาดใหญ่ยักษ์อยู่สองแห่งคือ ท่าเรือนักค้าขยะ (Ragman's Harbor) ทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นสถานที่เทียบท่าของเรือต่างชาติและท่าเรือสีม่วง (Purple Harbor) ทางทิศเหนือที่คนท้องถิ่นใช้จอดเรือ เรือทุกลำต้องรับการตรวจค้นโดยเจ้าพนักงานที่ท่าเรือตาจัตุรัส (Chequy Port) ก่อนจะเข้าท่าเทียบเรือ

    นครนี้ถูกปกครองโดยจ้าวสมุทร (Sealord) แต่ผู้สูงศักดิ์มากมายก็มีสิทธิ์มีเสียงในกิจการต่างๆของเมือง ที่นี่เปิดกว้างทางศาสนา มีศาสนสถานแด่เทพเจ้าต่างๆจำนวนมาก (รวมทั้งสัตตพักตรศรัทธาธรรม(Faith of the Seven) ของเวสเทรอส) ซึ่งตั้งอยู่บนเทวชลธีสถิตยภูมิ (Isle of the Gods) อย่างไรก็ดี นิกายหนึ่งที่เรียกว่าจันทรคายกคณะเป็นศาสนาที่แพร่หลายที่สุดในบราวอส นครนี้มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกรซึ่งประกอบด้วยกองเรือขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลคอดและทรัพยากรมากพอจะจ้างกองทัพทหารรับจ้างและเหล่าอัศวโยธินอิสระ (freeriders) ได้อย่างทันท่วงที บราวอสยังมีสถาบันธนกิจอันทรงอำนาจนามว่า อโยธนาคาร (Iron Bank) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของรํฐบาลอื่นๆมากมาย (รวมทั้งโลหราชบัลลังก์ (Iron Throne) ของเวสเทรอส) หนี้สินเหล่านี้ช่วยเพิ่มพูนอิทธิพลและอำนาจของชาวบราโวซี ปัจจุบัน อโยธนาคารแห่งบราวอสยิ่งใหญ่กว่าทุกธนาคารของเสรีนครอื่นๆรวมกันและมีบทบาทสำคัญในธุรกรรมการเงินระหว่างเอสซอสและเวสเทรอส

    บราวอสเป็นพันธมิตรอันแน่นแฟ้นกับเสรีนครแห่งเพนตอสซึ่งตั้งอยู่ทางใต้เลียบไปตามชายฝั่ง อิทธิพลจากชาวบราโวซีทำให้เพนทอสห้ามปรามการครอบครองทาสในบริเวณเมือง (แม้ว่าชาวเพนโทชีที่มั่งมีเช่นอิลริโอ โมแพติสดูแคลนกฎหมายนี้เป็นการลับด้วยการใช้ "คนรับใช้")

    ในช่วงเวลาของศึกห้ากษัตริย์ (War of the Five Kings) บราวอสอาจเป็นเสรีนครที่ทรงอานุภาพที่สุด เสรีนครที่มีประชากรมากที่สุดคือโวลันติส (Volantis) อาณานิคมแรกของวาลีเรียซึ่งเคยยิ่งใหญ่ที่สุด ทว่า โวลันติสเสื่อมอำนาจลงเมื่อสามร้อยปีก่อนหลังพยายามยึดครองเสรีนครอื่นๆทั้งหมดแต่ล้มเหลว แม้ว่ายังคงเป็นหนึ่งในเสรีนครที่มีอำนาจสูงสุด แต่โวลันติสก็เผชิญความเสื่อมถอยและปัญหาภายในด้านการค้ำจุนประชากรจำนวนมาก โวลันติสจึงถูกบราวอสขึ้นนำในฐานะมหาอำนาจอย่างฉิวเฉียด

    โดยทางกายภาพ นครแห่งนี้มีคูคลองและวัฒนธรรมวีรคติที่คลับคล้ายคลับคลากับนครรัฐอิตาเลียนยุคกลาง บราวอสมีความคล้ายคลึงกับเวนิสของจริง แต่ว่าในแง่ภูมิอากาศแลฤดู มันก็เหมือนกับนครยูโรเปียนทางเหนือเช่นอัมสเตอร์ดัม
    --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
    แปลยากจริงๆด้วยครับ ผมยังไม่มีเวลาหาวิธีเอาลง GoT wiki เลย ลองอ่านกันดูก่อนนะครับว่าใช้ได้รึยัง
    Kurodo และ topz73 ถูกใจข้อความนี้
  15. เดี๋ยวผมวาง template ให้นะครับ

    การแปลคำศัพท์เยี่ยมครับ ดูหรูหรากว่าศัพท์ที่ผมใช้คนละเรื่อง
    แต่กลัวว่าคนอ่านจะตีความไม่ออกรึเปล่าครับ บางคำผมยังไม่เข้าใจเลย อย่าง
    กุมภัณฑ์
    อโย(ธนาคาร)
    กัณหเศวตาราม

    ผมคิดว่า คีตะกวีสำหรับ moonsinger กับ นครอิสระ สำหรับ free cities อาจจะเข้าใจง่ายกว่านะครับ แล้วก็พวกชื่อเมืองต่างๆ ยังไงลองใช้ตามที่ผมเขียนไว้ให้ ใต้แผนที่ทางขวาเป็นแนวละกันครับ ^-^

    ศัพท์อื่นๆ เดี๋ยวไว้มาเทียบหนังสือแปลกันอีกทีนะครับ พอดีเรื่องนี้มีนักแปลหลายคน สุดท้ายคงต้องรอดูว่า บ.ก. จะเลือกใช้ศัพท์อะไร
  16. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    กุมภัณฑ์ = ยักษ์
    อโย = เหล็ก หรือไม่ก็สื่อความหมายว่ากล้าแกร่ง ทั้ง "อโย" กับ "ธนาคาร" เป็นคำบาลีสันสกฤตทั้งคู่ ผมเลยคิดว่าสมาสกันได้ ผมเห็นคำนี้มาตอนอ่านอโยฆรชาดก (ฆร = เรือน) ถ้าแปลว่า "ธนาคารเหล็ก" มันฟังดูทะแ่่ม่ง เหมือนเป็นธนาคารที่รับฝากเหล็ก จริงมั้ยครับ?
    กัณหา = ดำ, เศวต = ขาว, อาราม = วัด ทั้งหมดสนธิกันเป็น "กัณหเศวตาราม"
    จันทร์ = ดวงจันทร์, คายก = ผู้ขับร้อง, คณะ ทั้งหมดสนธิกันเป็น "จันทรคายกคณะ" คีตกวีแปลว่านักประพันธ์เพลง ผมเลยคิดว่าไม่น่าจะใช่
    สัตตะ = เจ็ด, พักตร์ = หน้า, ศรัทธา, ธรรม = แนวทางประพฤติ ทั้งหมดสนธิเป็น "สัตตพักตรศรัทธาธรรม" ผมใส่คำว่าธรรมต่อท้ายให้เป็นศาสนา เหมือน "พระคริสตธรรม"
    ผมแก้ "แคว้นเอกราชวาลีเรียน" เป็น "แคว้นกรรมสิทธิธราธิปไตยวาลีเรียน" เพราะคำอธิบายใน wikia บอกว่าที่นี่เป็นรัฐที่เกิดจากผู้ถือครองที่ดินกรรมสิทธิ์ทั้งหลายรวมตัวกัน
    กรรมสิทธิ์, ธราธิป = ผู้ครองแผ่นดิน, อธิปไตย = อำนาจปกครองประเทศ ทั้งหมดสมาสสนธิกันเป็น "กรรมสิทธิธราธิปไตย"
    ชลธี = น้ำ, สถิตย์ = ตั้งอยู่, ภูมิ = แผ่นดิน ทั้งหมดสมาสสนธิกันเป็น "ชลธีสถิตยภูมิ" (แผ่นดินที่ตั้งอยู่ในน้ำ) ใส่ "เทว-" นำหน้าให้กลายเป็น "เกาะแห่งเทพเจ้า" ผมเจอคำว่า "ชลธีสถิตยภูมิ" ตอนดูดิคชันนารีภาษาฮินดี ผมยังหาคำที่ดีกว่านี้ไม่เจอ เอาอย่างนี้ไปก่อน

    ผมเชื่อว่าวรรณกรรมเอกต้องการภาษาระดับวรรณศิลป์ในการถ่ายทอด ถ้าเรื่องราวจับใจผู้อ่าน กำแพงภาษาก็ไม่ใช่อุปสรรค ถ้าพยายามแปลให้ง่ายเกินไป หลายคำจะเสียความสวยงามของมันไป

    ถ้าคุณสุนัขป่าโลกันตร์หรือสมาชิกท่านอื่นอ่านแล้วมีอะไรทักท้วงก็บอกผมด้วยนะครับ
  17. โอ ขอบคุณครับ

    พาณิชยนครรัฐ , อโยธนาคาร , กุมภัณฑ์แห่งบราวอส , สมุทราธิปมณเฑียร , กัณหเศวตาราม
    ผมว่าเป็นคำที่สละสลวยมากครับ

    นิรลักษณ = ถ้าใช้ นิรพักตร์ จะตรงกว่ารึเปล่าครับ

    สมาคม = ผมว่า สมาคม เป็นคำที่ตรงกับ Guild ที่สุด แต่ว่า พอพูดถึงนักฆ่า สมาคมให้ความรู้สึกไม่ค่อยน่าเกรงขามน่ะครับ ถ้าใช้ องค์กร จะคิดว่าอย่างไรครับ? อาจจะเป็นศัพท์สมัยใหม่หน่อยนึงแต่ผมว่าให้ความรู้สึกเป็นกลุ่มนักฆ่าขึ้นนะ

    ถ้าเรียก guild ว่าองค์กร(สมาคม)ไร้หน้า เรียกสมาชิกว่า นิรพักตร จะคิดว่าอย่างไรครับ

    ท่าเรือนักค้าขยะ ท่าเรือสีม่วง = ถ้าลดทอนลงนิดนึงเป็น ท่าเรือค้าขยะ กับท่าเรือม่วง?

    ศรัทธาธรรมโพ้นทะเล = คำนี้เยี่ยมครับ

    จันทรคายกคณะ = ถ้าลดทอนคำว่า คณะ ออก จะคิดว่าอย่างไรครับ เป็น คายะกะจันทรา หรือ จันทราคายะกะ

    แคว้นกรรมสิทธิธราธิปไตยวาลีเรียน = จะมีทางย่อให้รวบรัดกว่านี้ได้รึเปล่าครับ ผมว่ายาวไปหน่อย

    Valyrian ใน blog ของ HBO มีลงคำอ่านว่า Vuh-LEER-ee-un ผมเลยคิดว่า น่าจะสะกด วาเลียร์เรียน นะครับ

    ผมฝากศัพท์อีก 2 คนให้ช่วยคิดได้มั้ยครับ Isle of Faces กับ Green Men
    Isle of Faces เป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์ที่มีต้น แวร์วูด สลักใบหน้าเยอะๆ ซึ่งปฐมบุรุษกับเด็กแห่งพงไพรลงสนธิสัญญาสงบศึกกัน
    Green Men คือนิกายนักบวชที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเกาะที่ว่านี้ครับ

    ทีแรกผมแปลทื่อๆ มาก ว่า เกาะแห่งใบหน้า กับนักบวชพฤกษา

    ขอบคุณครับ
  18. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    นิรพักตรชนก็ได้ครับ ผมเลือกนิรลักษณชนเพราะผมเข้าใจว่ามือสังหารของสมาคมนี้ไม่ทิ้งร่องรอย ไม่มีหน้าตาให้จดจำ ก็คือนิรลักษณ์

    เรื่องชื่อเรียกสมาชิก ผมยังไม่แน่ใจ "นิรพักตรสมาชิำก" หรือไม่ก็ "นิรพักตริก" คำว่า "อิก" หมายความว่า "เกี่ยวข้องด้วย" อย่างเ่ช่น พุทธศาสนิก, ธรรมิก

    เหลือแค่ "จันทรคายก" ก็ได้ครับ ผมใส่คำว่า "คณะ" เข้่าไปเพื่อแสดงว่ามีหลายคน ใช้ "บริษัท" ก็ได้ เหมือน "พุทธบริษัท"

    เรื่องชื่อเต็มของแคว้นวาเลีียร์เรียน เหลือแค่ "กรรมสิทธิธรารัฐวาเลียร์เรียน" ก็น่าจะได้ แต่โดยส่วนตัวผมชอบชื่อแรกมากกว่า ชื่อภาษาอังกฤษมีอยู่แค่ "Freehold" ที่แปลว่าที่ดินกรรมสิทธิ์ ผมเลยเติมคำเข้าไปให้ฟังดูอลังการสมเป็นประเทศหน่อย เห็นในข่าวช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาชอบใช้คำว่า "....ธิปไตย" อยู่เรื่อย ผมเลยลองบ้าง

    Isle of faces = วัทนขันธทวีป
    วัทน์ หรือ วทนะ แปลว่า คำพูด, ปาก, หน้า เป็นภาษาบาลีสันสกฤต
    ขันธ์ แปลว่า หมวด, หมู่, กอง, พวก
    ทวีป แปลว่า เกาะในภาษาสันสกฤต
    แปลว่า "เกาะของหมู่มวลใบหน้า" (มีปากด้วย อาจจะพูดได้ก็ได้)

    Green Men = อรัญวาสี
    อรัญ แปลว่า ป่า
    วาสี แปลว่า ผู้อยู่, ผู้ครอง หรือ มีด, พร้า
    ในศาสนาพุทธก็มี

    Children of the Forest = อรัญโปดก
    โปดก แปลว่า ลูกน้อย, ลูกสัตว์
    น่าจะเคยได้ยินคำว่า "เมษโปดก" กันนะครับ

    อย่างที่เคยบอก ผมเป็นนักแปลมือใหม่ ถ้าเจออะไรผิดก็บอกกันด้วยนะครับ

    ส่วนเรื่องคำว่า "องค์กร" ฟังดูดีกว่า "สมาคม" ผมไม่มีปัญหาอะไรครับ แต่ขอยกตัวอย่างเรื่องสมาคมลึกลับในประเทศหนึ่งที่เป็นที่เลื่องลือกันมาเป็นร้อยปี ว่ากันว่าสมาชิกมีทั้งนักธุรกิจรายใหญ่, นักอุตสาหกรรมชื่อก้องโลก, นักการเมือง, นายทหาร หรือแม้แต่ประธานาธิบดีหลายคนของประเทศนั้นๆ เป็นที่ร่ำลือกันว่าสมาคมนี้มีอำนาจมหาศาล สามารถกำหนดนโยบายของประเทศ ควบคุมความเป็นไปของการเมืองระหว่างประเทศ แม้แต่ประธานาธิบดีเองยังไม่กล้าขัดใจ มีประธานาธิบดีอยู่คนหนึ่งที่อยากจะเป็นสมาชิกจนตัวสั่นแต่ถูกปฏิเสธเพราะไร้คุณสมบัติ เขาเป็นคนที่เริ่มสงครามในตะวันออกกลางด้วยเหตุผลว่ามีอาวุธทำลายล้างสูง

    น่าจะเดาออกนะครับว่าสมาคมนี้ชื่ออะไร ถ้ายังอยากเปลี่ยนอยู่ผมก็ไม่ขัดข้อง
    สุนัขป่าโลกันตร์ ถูกใจข้อความนี้
  19. อรัญวาสี กับ วัทนขันธทวีป ฟังดูสมเป็นสถานที่ศาสนาจริงๆ ครับ ผมขออณุญาตนำไปใช้เลยนะครับ

    เรื่องภาษาผมต้องขอซูฮกเลยครับ เรื่องการหาข้อมูลก็ปึ้กมาก ถ้าได้คุณ Levantine มาช่วยตอนคิดศัพท์แปลหนังสือละก็ หนังสือคงยกระดับขึ้นไปอีกหลายขั้นเลยละครับ
    ตอนนี้ในหนังสือเลยใช้แต่ศัพท์บ้านๆ จากความรู้พื้นๆ ของผม :oops:

    ผมลองกลับไปอ่านวิเคราะห์ Faceless Men ดูอีกที ทำให้ผมเกิดความคิด 2 อย่าง
    http://awoiaf.westeros.org/index.php/Faceless_Men

    1. ผมคิดว่า Face ในที่นี้น่าจะหมายถึงแต่ละปาง/ร่าง/ชาติของเทพเจ้ามากกว่านะครับ อาจจะไม่ได้หมายถึงความไร้ตัวตนของนักฆ่า
    2. พอดูภาพนักฆ่าแล้ว ผมคิดว่าเราใช้คำง่ายลงสำหรับเรียก สมาชิก น่าจะดีนะครับ อย่าง ชนไร้ลักษณ์ เพราะน่าจะเป็นคำที่ทาสและชาวบ้านไร้การศึกษาทั่วไปเรียกแล้วเข้าใจด้วย
    รู้สึก ไร้ลักษณ์ ฟังดูดีกว่า ไร้พักตร์

    วาเลียร์เรียน เห็นด้วยครับ ธิปไตย ฟังดูดีกว่า รัฐ เยอะเลย

    ผมฝากคิดคำไทยของ Many Face Gods ด้วยเลยนะครับ ขอบคุณครับ
  20. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    [​IMG] ดีใจที่คุณชอบครับ

    การเขียนซับไตเติ้ลกับบทความของคุณก็ดีมากเช่นกันครับ ถึงศํพท์ที่ใช้จะเป็นภาษาปกติแต่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าคุณต้องการให้คนอื่นเข้าใจ รับรู้และชื่นชมเรื่องราวโลกใน GoT จริงๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่ให้ชีวิตกับตัวหนังสือครับ

    ตัวผมเองเริ่มสนใจศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤตก็ตอนอ่าน "โอดิสซี" นี่แหละ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้แปลภาษาได้งดงามไพเราะจนผมไม่อยากเชื่อว่านี่เคยเป็นภาษาอังกฤษแบบเก่ามาก่อน น่าเสียดายที่เขาเสียไปแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมเลยพยายามเอาอย่าง

    เรื่องพวกนิรลักษณชน ผมคิดว่าเรียกว่า "นิรลักษณ์" เฉยๆก็ได้ หรือไม่ก็อะไรก็ได้ที่สื่อความหมายแบบนั้น ตัวอย่างคล้ายๆกันที่เป็นภาษาอังกฤษก็มีครับ ชื่อ "Nemo" นี่แหละ มันฟังดูเท่ดี แต่มีสักกี่คนที่รู้ว่ามันแปลว่า "นิรนาม" (จากนิยาย "ใต้ทะเล 20,000 โยชน์")

    Many Faced God = พหุพักตรเทพ
    ผมเคยแปลไว้แล้วครับ หรือว่าไม่เอาคำนี้?

    สุดท้าย [​IMG] ใครๆก็ชอบฟังนิทาน แต่น้อยคนนักที่เล่านิทานเป็น ใครๆก็ชอบฟังนิทาน แต่น้อยคนนักที่อยากเป็นนักเล่านิทาน
  21. อ้าวเคยแปลแล้วเหรอครับ แหะ แหะ ต้องรีบยัดลง wiki ไว้ก่อนกันลืม
  22. Levantine Storyteller

    Levantine Storyteller Moderator Staff Member

    ว่าแต่ทางสำนักพิมพ์เขาเริ่มพิมพ์หนังสือรึยังครับ หรือว่ายังมีแค่ต้นฉบับอยู่
    Gods Eye = เทวนัยน์ ใช้ได้มั้ยครับ?
    ส่วน Isle of Gods ขอติดไว้ก่อน ถ้าหาคำที่ดีกว่าไม่ได้จริงๆ ผมอาจลดเหลือแค่ "เกาะแห่งทวยเทพ"
  23. ทะเลสาบเทวนัยน์
    ทะเลสาบดวงตาเทพเจ้า
    เดี๋ยวขอผมลองเอาไป พูด เทียบกันดูซักพักนะครับ
  24. Kurodo

    Kurodo Grand Maester Staff Member

    อ่านแล้วน้ำตาจะไหล ภาษาบาลี/สันสกฤตนี้งดงามมาก (แต่แปลยากมากเช่นกัน)
    ผมขอแนะนำบางคำแล้วกันครับ ใช้ไม่ใช้ไม่ว่ากัน
    -The Moonsingers คีตแปลว่าขับร้องน่าจะเอามาใช้เป็น หมู่จันทราคีตกร, หมู่จันทรคีตกร (จัน-ทะ-ระ-คี-ตะ-กอน)
    -God Eye เทวเนตร ถ้าจะเอาไปใช้คู่กับทะสาบก็อาจเปลี่ยนเป็น ทะเลสาบนัยน์ตาเทพเจ้า
    ผมชอบคำแปลตรง อรัญวาสี, กัณหเศวตาราม, ท่าเรือนักค้าขยะ
    ส่วนคำว่า สมุทราธิปมณเฑียร, แคว้นกรรมสิทธิธราธิปไตยวาลีเรียน กับ อัศวโยธินอิสระ ผมว่าน่าสนใจนะแต่คิดว่าเยอะไปครับ
    Levantine Storyteller ถูกใจข้อความนี้

Share This Page